เวชศาสตร์ป้องกัน – ศ. (วุฒิคุณ) ดร.นพ. พรเทพ ศิริวนารังสรรค์

ศ. (วุฒิคุณ) ดร.นพ. พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ นายกสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย

The President of the Preventive Medicine Association of Thailand

ศ. (วุฒิคุณ) ดร.นพ. พรเทพ ศิริวนารังสรรค์
ผู้นำในการส่งเสริมความรู้ด้านเวชศาสตร์ป้องกัน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย

คนไทยจำนวนไม่น้อยมีความเชื่อฝังใจแบบผิดๆว่า การที่จะมีสุขภาพดี มีชีวิตยืนยาวได้นั้น ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีทางการแพทย์ หรือความสามารถในการรักษาโรคของหมอ ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดที่ทำให้มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตผิดๆ จนเสี่ยงต่อการเกิดความเจ็บป่วย ความเสื่อมของสุขภาพร่างกายก่อนวัยอันควร กลายเป็นภาระด้านสาธารณสุขของประเทศชาติ ภาระของครอบครัวและคนใกล้ชิด รวมถึงภาระต่อตัวเองโดยไม่จำเป็น อันเป็นปัญหาที่กระทบต่อสังคมโดยรวมในหลายมิติ ทั้งในปัจจุบันและจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นในอนาคต ศ. (วุฒิคุณ) ดร.นพ. พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร , ประธานคณะกรรมการสาธารณสุข นายกสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย เป็นบุคคลผู้มีบทบาทสำคัญระดับแนวหน้าในสายงานสาธารณสุขของประเทศ ที่เห็นความสำคัญของการเผยแพร่ความรู้ด้านเวชศาสตร์ป้องกันไปสู่สังคมในวงกว้าง ท่านได้อุทิศแรงกายแรงใจด้วยความเสียสละอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตการทำงาน เพื่อรณรงค์เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจพื้นฐานด้านการดูแลสุขภาพด้วยตัวเองสำหรับประชาชน ด้วยความมุ่งหวังให้ผู้คนในสังคมมีคุณภาพชีวิตที่ดีและปลอดภัยจากโรคภัยไข้เจ็บ เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนก ผู้ทรงเป็นพระบิดาแห่งการแพทย์ไทย ที่ว่า “ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ลาภ ทรัพย์และเกียรติยศจะตกมาแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งวิชาชีพไว้ให้บริสุทธิ์”

“ผมเป็นเด็กต่างจังหวัด อยู่สุโขทัย ตอนเด็กมีฐานะที่ยากจนมากเพราะบ้านมีพี่น้องถึงเก้าคน พ่อแม่เป็นผู้อพยพมาจากเมืองจีน แม่ของผมเป็นมะเร็ง ทำให้ผมมีอดีตที่ฝังใจในปัญหาโรคภัยไข้เจ็บ แม้ในตอนแรกผมเคยนึกอยากเป็นครู แต่ปรากฎว่าตอนไปขอใบรับรองแพทย์จากหมอ คุณหมอท่านนั้นก็บอกว่าอย่างเราต้องเรียนหมอไม่ใช่เป็นครู ท่านก็ไม่ยอมออกใบรับรองแพทย์ให้ พร้อมกับติดต่อให้เข้ามาอยู่กรุงเทพ ให้มากวดวิชาที่โรงเรียนกิ่งเพชรแล้วสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดม ทั้งที่ในขณะนั้นทางบ้านกำลังลำบากมาก ครอบครัวผมเคยประสบเหตุบ้านไฟไหม้หมด แม่ก็ป่วย พี่สาวเป็นคนส่งให้เรียน ความลำบากทำให้ผมตั้งใจว่าจะต้องเรียนให้ดีที่สุด สมัยยังเล็กผมต้องช่วยขายของที่ตลาดเพื่อหาเงินก่อนไปโรงเรียน ทำให้เราเห็นคุณค่าของเงิน วันๆนึงได้ยี่สิบสามสิบบาทต้องเป็นค่าอาหารคนทั้งครอบครัว”

“ช่วงเรียนแพทย์ที่เชียงใหม่ เงินไม่พอใช้ก็ต้องขอทุน จากคณะแพทย์เชียงใหม่ พ่อแม่ผมสอนตลอดให้รู้จักความกตัญญูกตเวที ท่านว่า เรามาอยู่เมืองนี้บ้านนี้ เราต้องตอบแทนคุณแผ่นดินนะ ผมก็ตั้งใจว่าถ้าโตมาแล้วเราจะทำงานทดแทนคุณให้กับแผ่นดิน ต้องพยายามทำอะไรก็ได้ที่ให้ประโยชน์กับคนอื่นเขา เพราะเรามาจากไม่มี มาจากศูนย์ การอุทิศตนเพื่อประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์ เป็นคติในการทำงานตลอดชีวิตของผม หลังจากจบแพทย์ผมจึงต้องออกชนบท ไปอยู่ตามโรงพยาบาลอำเภอ และการที่ไปอยู่โรงพยาบาลอำเภอทำให้เราค้นพบสัจจะมากมายว่าชาวบ้านลำบากยากไร้มาก”

ความยากลำบากของครอบครัวครั้งวัยเยาว์เป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้ ศ. (วุฒิคุณ) ดร.นพ. พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ มีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะแสวงหาความสำเร็จในชีวิต เพื่อที่จะได้มีกำลังในการช่วยเหลือครอบครัวของตนเอง และผู้อื่นที่เดือดร้อนให้พ้นจากความทุกข์ยาก ซึ่งผลของความมุ่งมั่นนั้นก็ได้นำพาชีวิตของท่านมาสู่จุดที่คาดหวัง

“ปัญหาจำนวนผู้ป่วยที่มีมากกว่าแพทย์ ซึ่งผมเผชิญด้วยตัวเองจากการทำงานโรงพยาบาลในชนบท ทำให้มองเห็นภาพว่า การเป็นหมอรักษาคนมันไม่หาย มันจะต้องป้องกันโรค เพราะให้ยาถึงจะหายแต่เดี๋ยวก็กลับมาอีก เพราะฉะนั้นปรัชญาในการทำงานก็คือ เราต้องใช้วิธีการที่ป้องกันไม่ให้เขาป่วย ผมจึงเลือกเรียนเป็นแพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ป้องกัน สาขาระบาดวิทยา ซึ่งตอนนั้นไม่มีคนรู้จักเลย โดยระหว่างเรียนต่อผมได้รับทุนไปเรียนด้านการเงินและการวางแผนด้านสาธารณสุขที่ลอนดอน หลังจากเรียนจบผมได้มาทำงานฝ่ายบริหารในกระทรวงสาธารณสุขช่วงหนึ่งก่อนไปเรียนต่อปริญญาเอก เรื่องการวางแผนและการบริหารการเงินของระบบสาธารณสุขและประกันสังคม ตั้งแต่จบปริญญาเอกผมจึงได้รับภารกิจในสายบริหารมาโดยตลอด ตั้งแต่สำนักนโยบายและแผน รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ไปเป็นที่ปรึกษา เป็นผู้ตรวจ เป็นรองปลัดก็ไต่ขึ้นมาตามลำดับ จนมาเกษียณที่กรมอนามัย

“การมาทำงานที่กรมควบคุมโรคสองปี ผมก็ได้หยุดโรคไปเยอะ เป็นสิ่งที่ผมภูมิใจมาก โดยเฉพาะเรื่องของการใช้ศัพท์ง่ายๆที่เราพยายามใช้สื่อสารมวลชนช่วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกินกล้วยน้ำว้า เรื่องกินร้อน-ช้อนกลาง-ล้างมือ และสโลแกน รู้ก่อนรู้ทันป้องกันได้”

“ความสำเร็จในการทำงานมาจากหลายอย่างประกอบกัน ผมเป็นคนชอบอ่านหนังสือ เช่น หนังสือของ เดล คาร์เนกี เคล็ดลับการทำงานกับคนว่า เราจะครองคนครองใจคนทำงานยังไง หรืออ่านสามก๊ก ก็ให้แนวคิดที่ดีในการทำงานที่ต้องมีกุศโลบาย มียุทธศาสตร์ มีการทำงานเป็นทีม พอมาเรียนระบาดวิทยา เขาได้สอนเรื่อง Health Academics เรื่องเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข เรื่องการบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ ในการเรียนปริญญาเอก เขาก็สอนวิธีเรียนด้วยตัวเอง สอนวิธีทำงานใช้ความคิด รู้จักฟังคนอื่น นอกจากการเรียน การทำงาน การอ่านแล้ว บุคคลที่เป็นแบบอย่างในการทำงานให้สำเร็จของผมก็มีหลายท่าน ซึ่งก็คือผู้บังคับบัญชาในอดีต

“อีกสิ่งสำคัญในความสำเร็จคือการมี Positive Thinking ซึ่งทุกคนสามารถฝึกฝนตนเองได้ โดยเริ่มจากพยายามฝึกว่าตื่นมาทุกเช้าเราจะมีอะไรดีๆกี่เรื่อง สมองที่ได้รับการฝึกเป็นประจำให้มี positive Thinking นอกจากจะทำให้คนมีความสุขได้แล้ว ยังมีประสิทธิภาพในการคิดหาทางออกจากปัญหาต่างๆได้ดี ช่วงที่ผมเป็นรองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ก็ทำให้เรียนรู้ถึงกระบวนการวิธีคิดที่จะสร้างสุขให้กับตัวเอง ผมเป็นคนที่มี Positive Thinking อยู่แล้ว ก็เป็นเรื่องง่าย เมื่อได้ความรู้แล้วไปสถาปนาเวชศาสตร์ป้องกันแขนงสุขภาพจิตชุมชนขึ้นมา

“งานสร้างสุขให้ตัวเองก็ไม่ยาก มันต้องมีงานอดิเรก เล่นกีฬา เล่นปิงปอง ผมเป็นประธานชมรมเทนนิส บาสเกตบอล เทเบิ้ลเทนนิส เป็นทุกสมาคมที่ไม่มีใครยอมเป็นประธาน แล้วก็เล่นกีฬา ทุกวันนี้ผมก็ออกกำลังกายทุกวัน มีเวลาก็ไปเล่นปิงปองครึ่งชั่วโมง ชั่วโมงนึง ถ้าไม่มีก็ขี่จักรยานอยู่กับบ้านหน้าทีวี ทุกเช้าตื่นขึ้นมาก็ต้องออกกำลังกายบนเตียง ยืดเหยียดครึ่งชั่วโมง เพื่อให้ลดพุงลดน้ำหนัก งานหนักเรากินเยอะ ไม่ระวังตัวก็ตายแน่

“ไลฟ์สไตล์ที่สำคัญก็คือการออกกำลังกาย เลิกบุหรี่เลิกเหล้าเด็ดขาด เมื่อก่อนตอนเป็นนักศึกษา ผมก็สูบบุหรี่นะ แล้วมันก็ไม่ดีเลย ก็เลิก หันมาออกกำลังกาย กินอาหารให้ดี สร้างสุขให้กับชีวิต มองเห็นทุกอย่างเป็นด้านดีไปหมด ต้องมองด้านดีของทุกๆสถานการณ์ให้ได้”

นอกจาก ศ. (วุฒิคุณ) ดร.นพ. พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ จะเป็นผู้บริหารระดับสูงในงานสาธารณสุขของประเทศ ท่านยังมีความเป็นทั้งนักวิชาการและครูที่ไม่เพียงเผยแพร่ความรู้อันเป็นประโยชน์ แต่ยังเป็นนักปฏิบัติที่พิสูจน์ให้เห็นผลลัพธ์ของการดูแลสุขภาพเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ประชาชนและลูกศิษย์ลูกหาของท่านด้วยตัวเองอย่างจริงจัง โดยท่านได้แสดงทัศนะที่เกี่ยวกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่กำลังเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประเทศในหลายๆด้าน

“ตอนนี้คนเกิดน้อย สมัยผม มีเด็กเกิดใหม่ปีละหนึ่งล้านคน เหลือเพียงปีละ 6แสนคน สังคมก็จะมีแต่คนแก่ เด็กไม่ค่อยมี ปัญหาสุขภาพของคนไทยก็คือจะต้องดูแลคนแก่ สมัยก่อนโรคติดต่อมีเยอะแยะก็เปลี่ยนเป็นโรคไม่ติดต่อ เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรม

“เมื่อคนเกิดน้อย แต่ละครอบครัวมีลูกน้อย แปลว่าคนเป็นพ่อแม่วัยสูงอายุก็ต้องดูแลตัวเอง ลูกจะไม่มีเวลามาดูเรา เพราะเขาต้องดูครอบครัวเขากับลูกเขา เพราะฉะนั้นในสังคมปัจจุบันการสาธารณสุขจึงต้องเน้นไปที่การช่วยให้คนป่วยช้าลงที่สุด และต้องมีกระบวนการดูแลผู้ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็ก กับคนแก่ เด็กอ่อน เพราะฉะนั้นศูนย์ดูแลเด็กอ่อน ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุจะต้องเกิดขึ้นมากมาย ไม่งั้นกลายเป็นภาระ

“การสาธารณสุขไทยจะต้องมุ่งเน้นไปในเรื่องของการดูแลก่อนป่วยของผู้สูงอายุกับเด็ก ซึ่งเป็นกลุ่มที่เสี่ยงที่สุด งานนี้เป็นงานของกรมอนามัยที่ผมเป็นอธิบดีอยู่ก่อน ถ้าไม่ทำ…ตายเลย ต้องมีการจัดระบบให้บ้านเป็นเรือนผู้ป่วยเรื้อรัง ต้องส่งคนที่ไม่ใช่เป็นหมอหรือพยาบาลไปดู ต้องอบรมคนที่พอมีความรู้เรื่องการพยาบาล ช่วยดูแลผู้ที่ไม่ต้องการเมดิคัลแคร์ แต่เป็นโซเชียลแคร์ คือการบริการทางด้านสังคม เช่น การกินข้าว การเช็ดตัว อะไรพวกนี้ รวมถึงเรื่องการเอนเตอร์เทน ยืดเหยียด นวดกล้ามเนื้อ ซึ่งไม่ต้องการหมอหรอก แต่ต้องเป็นคนที่มีสหวิชาการคือ มีความรู้เรื่องอาหาร เรื่องกายภาพ เรื่องการพูดคุย การทำเนอร์สซิ่งแคร์ รวมๆเราเรียกว่า แคร์กิฟเวอร์ ซึ่งถือเป็นวิชาชีพ ที่ต้องผลิตขึ้นมาโดยไม่ต้องถึงกับเรียนปริญญาตรีอะไรหรอก เรียนสามเดือนก็พอ ต้องให้เงินเขาพอสมควรเพราะเขาเป็นกึ่งจิตอาสา ช่วยเหลือคนด้วย ในญี่ปุ่นเขาก็มี อาจจะเป็นผู้ช่วยพยาบาลหรือจบสังคมสงเคราะห์ เขาก็ไปดูแลที่บ้าน

“ทีนี้การแพทย์ไทยเขาก็จะต้องมาดูโรคที่ไม่ติดต่อซึ่งยาก รักษาไม่หาย มันเกิดจากพฤติกรรมการบริโภคที่สะสมด้วย ไม่ใช่วันนี้ผมบอกว่า คุณทำอย่างนี้สิแล้วความดันจะหายไปมันไม่มีหรอก ความดันสูงเพราะเส้นเลือดมันแข็งตัวมันสะสมมาตลอดห้าสิบปี ถ้าคุณกินขาหมูข้าวมันไก่ทุกวันเนี่ย มันรักษาไม่ได้หรอก…ต้องกินยาแล้ว หรือไตวายก็ต้องไปเกิดใหม่แล้ว

“การแพทย์ยุคใหม่ต้องพยายามอย่าให้เข้าแอดมิทโรงพยาบาล เน้นมาเช้าเย็นกลับให้มากที่สุด เพราะว่าถ้านอนโรงพยาบาลแล้วแพงมากไม่ไหว เตียงไม่พอ จึงจำเป็นที่จะต้องมีระบบให้ความรู้ประชาชน เรียกว่าความรอบรู้ทางด้านสุขภาพ หรือ  Health Literacy เพราะท้ายสุดถ้าชาวบ้านไม่รู้จักดูแลตัวเองมันไปไม่ได้หรอก

“ในเมืองจีน คนอยากรู้เรื่องอะไรเข้าไปในโซเชียลมีเดีย ค้นทีเดียวออกมาหมด เป็นเบาหวานจะต้องทำยังไงบ้างมันบอกมาหมด บ้านเรานี่ชาวบ้านยังเสิร์ชไม่เป็นเลย ทำยังไงที่จะทำคอนเทนต์ให้ได้ แล้วสอนชาวบ้านให้รู้จักเลือกให้เป็น นี่คือ Health Literacy ความรอบรู้ทางด้านสุขภาพที่สังคมไทยต้องมี

“ทุกวันนี้ งานที่ผมทำโดยที่ไม่มีเงินเดือนก็คือทำคอนเทนต์เรื่องสุขภาพให้ประชาชนได้รับรู้ รับทราบ มีการแปลความรู้จากหนังสือวารสารด้านสุขภาพมาเป็นอิเล็กทรอนิกส์ กับโซเชียลมีเดีย เราพยายามทำทุกอย่างทุกทิศทาง ออกรายการทีวี วิทยุหรือทำคลิปเอง เพื่อให้ความรู้ชาวบ้านทั้งนั้น ซึ่งไม่รู้จะทำได้กี่ปีนะ

“เป็นหน้าที่ของนักการสาธารณสุข ที่ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานที่ไม่ใช่แต่นั่งรักษาไปเรื่อยๆ จะต้องออกมาทำให้ความรู้ปรากฎในที่สาธารณะ ให้ชาวบ้านหาเจอ ถ้าไม่ทำอย่างนี้ต้นทุนสุขภาพมันจะแพงมาก ผู้ป่วยก็ไม่จำเป็นต้องมาหาหมอ ต้องดูแลตัวเองได้ นั่นเป็นความคาดหวังสุดท้าย แต่ตอนนี้ยังไม่ไช่ คนก็ยังติดนิสัยเป็นโรคนิดเดียวก็ต้องไปหาหมอ ไปเข้าคิวไปรอตรวจกันเป็นวันได้ยาพาราเซตามอลมากินหรือหมอบอกไม่ต้องทำอะไรคุณสบายใจกลับบ้านได้ โรคหายพอดี จะเป็นอย่างนี้กันเยอะมาก ผมก็พยายามทำมาชั่วชีวิต คนๆเดียวก็ได้เท่านี้ แต่ว่าตอนนี้ก็ดีขึ้นนิดนึง คือมีสื่อสารมวลชน มีเครื่องไม้เครื่องมือโซเชียลมีเดียเยอะแยะที่ผมสามารถทำได้ด้วยตัวเอง

“ผมทำมีเดียแพลนเอง อย่างเช่นเย็นนี้รายการผมออกทีวีช่องทูบีเอสเสร็จ ผมก็จะมาโพสอยู่ในเพจของผม มันก็จะถึงคนในเพจ ถ้าเปิดดูทุกคนก็แสนกว่าคนแล้ว พอตอนเย็นผมก็จะส่งให้กับเลขาผมโพสลงไปในไลน์กรุ๊ป ที่ผมก็จะมีอยู่สี่ห้าร้อยไลน์กรุ๊ป กรุ๊ปนึงตั้งแต่สามสิบยันสามร้อยคน ผมก็จะส่งไป เขาดูไม่ดูไม่รู้แต่ผมส่งตลอด ส่งได้ทีละสิบ แต่ผมไม่ได้ส่งเองนะผมจะซื้อเครื่องมือโทรศัพท์ให้เลขาผมเครื่องนึง พร้อมกับเช่าไลน์เขาเดือนนึงสามสี่ร้อยบาทมั๊ง คุณมีหน้าที่ก๊อปปี้ลงส่งทุกกรุ๊ป ทีละสิบกรุ๊ปไปเรื่อยๆ มีเดียแพลนตรงนี้ ถ้าเรื่องมันโดนใจ ภายในสามวันมันจะไปทะลุหลักแสนคนวิวนะ ถ้ามันไม่โดนใจกลางๆอาทิตย์นึงก็สามหมื่นห้าหมื่น ถ้าคนดูสามหมื่นห้าหมื่นแล้วมันแชร์ไปเรื่อยๆ ยอดผู้ชมก็ได้บานตะไทเลยนะ

“ถ้าข้อมูลไหนมันดูแล้วเป็นประโยชน์จริงๆผมก็จะก๊อปปี้ลงในเพจ มันมีเพจสาธารณะ เพจธุรกิจ ถ้าพวกเรามีเพจหรือเฟสบุ๊คคู่กัน คนที่ทำธุรกิจอะไรก็ตามที่มีเพจก็จะเห็นเรา เขาก็จะแอดเฟสบุ๊คเราเข้าไปในเพจเขา แล้วก็ก๊อปปี้สิ่งที่ลงในเฟสบุ๊คในเพจเราลงไปในกรุ๊ปเขา บางกรุ๊ปแสนคนนะ แต่เฟสบุ๊คเขาจะจำกัดไว้ว่า เซทนึงให้ลงได้ห้าสิบ ก๊อปปี้ลงได้ห้าสิบกลุ่มเท่านั้นเอง แต่ผมลองดูมันมาได้เกือบร้อยแล้ว แล้วเขาก็จะบล็อคเรา เพราะฉะนั้นผมมีเฟสบุ๊คอยู่หกบัญชี ถ้ามาให้ลงได้ร้อยผมก็ลงได้หกร้อยเพจ อันนี้คือมีเดียแพลนผม ยอดวิวมันถึงได้ปรื๊ดๆขึ้นมาเจ็ดวันล้านสี่ คอนเทนต์ที่ยืดเหยียดนอนบนเตียงใส่เสื้อเหลือง มีผู้ชมวันละสองแสน แต่ว่าพอล้านสี่แล้วมันไม่ยอมให้ผมเพจแล้ว มันจะขายผม สามสิบสามบาทต่อร้อยกรุ๊ป เขาไม่ยอมให้โพส ผมไม่ซื้อ เราก็หยิ่ง เราก็ทำงานอย่างนี้ แต่มันก็ยังรันไปเรื่อยๆวันละสามหมื่นๆนะ จนวันนี้ประมาณได้ล้านเจ็ดแสนห้าหมื่นหกหมื่นแล้ว ถ้าของมันดี ก็รันไปเรื่อยๆ วันนึงสองหมื่น หมื่นนึง และถ้ามันเริ่มแผ่วผมไม่มีอะไรจะเล่น ผมก็เอามันขึ้นมาวางใหม่

“คนสงสัยว่า…ทำไมผมต้องมาทำ คือเรื่องอย่างนี้ต้องช่วยกันเผยแพร่ครับ ต้องบอกพวกหมอทั้งหลายทำเป็นตัวอย่างให้เขาทำ แต่บางคนทำแล้วมันไม่ออกนะ ก็ไปว่าเขาไม่ได้หรอก ก็เป็นเรื่องที่ว่ามุมมองด้านสาธารณสุขในการดูแลประชาชนแม้กระทั่งการกินกาแฟ เมื่อก่อนผมกินไม่ได้เพราะมันขม ทำคลิปสอนวิธีกินกาแฟไม่ใส่น้ำตาลคนดูเป็นล้าน ไม่ต้องเติมน้ำตาลสูตรยังไง อมแล้วร้อนๆอมแล้วนับถึงห้าถึงเจ็ดอมแล้วกลืน คำแรกขม แล้วเหลือยี่สิบเปอร์เซนต์แล้ว คำที่สองแทบไม่ขม นี่ก็สอนเขา เขาก็ไปทำ…เลิกอ้วน เลิกไขมันสูงกันเป็นแถวเลย ก็บอกไปหมดแล้วนะ”

ศ. (วุฒิคุณ) ดร.นพ. พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ บอกเล่าถึงการทำงานรณรงค์ด้านสาธารณสุขด้วยสื่อโซเชียลมีเดียที่ท่านลงมือทำด้วยอย่างมีชีวิตชีวา จนอดสงสัยไม่ได้ว่า จะมีเวลาเหลือให้กับความสุขในชีวิตส่วนตัวท่านมากน้อยเพียงใด

“ความสุขส่วนตัวผมก็คือฟังเพลง ชอบร้องเพลงมาก คาราโอเกะ ถ้ามีโอกาส แต่ตอนหลังไม่ค่อยมี อย่างเมื่อวันอาทิตย์ครึ่งหลังว่างๆก็เปิดสนุกดีนะคลิปเพจติ๊กต๊อกน่ะ และผมชอบเปิดดูเพลงดังในอดีต นั่งฟังเพลงไปร้องไปสนุกดี ผมปลูกต้นไม้ปลูกกล้วย คุยกับต้นกล้วยคุยกับต้นไม้ที่บ้าน งานอดิเรกผมก็คือไปตัดแต่งต้นกล้วย บ้านผมมีกล้วยอยู่บนต้นสิบหกเครือนะ บ้านผมร้อยกว่าตารางวา แต่นอกรั้วผมไปปลูกอีกแถวนึงเลยริมคลองได้อีกสิบกอ มีกล้วยอยู่กอละเครือ ทุกวันก็คอยศึกษาว่าเราจะปลูกกล้วยยังไงให้มันออกมาดี ผมเก็บกล้วยกินทีละลูก กล้วยมันสุกบนต้น มันไม่ได้สุกทั้งเครือ แต่มนุษย์นี่โง่มากไปตัดทั้งต้นทั้งเครือ แล้วกินไม่ทัน

“ผมกินกล้วยน้ำว้ามาตลอดเลยนะ ต้องกินกล้วยที่บ้านปลูกเอง นอกจากกล้วยที่บ้านยังมีฝรั่งสองต้น ฝรั่งขี้นกต้นนึง กล้วย มะเฟือง ส้มโอ มะนาว มังคุด ที่ได้กินมากคือต้นหม่อน เก็บกินได้ทั้งปี วันดีคืนดีตัดทิ้งเอาใบมาทำชาใบหม่อนลดเบาหวาน ปลูกสารพัดที่รั้วก็ปลูกผัก ถั่วพลู อัญชัน ใบเตย ตะไคร้ มันเป็นอะไรที่สนุกเมื่อได้ปลูกต้นไม้ คุยกับต้นไม้เลี้ยงไก่ กินไข่ไก่ทุกวัน นี่งานอดิเรกนะ ไลฟ์สไตล์ยามว่างก็พวกเหล่านี้แหละ แล้วก็เล่นเกมในโทรศัพท์นิดหน่อย พอเบื่อแล้ววางก็มาดูไลน์ คือไลน์ผมนี่ดูทั้งวันก็ไม่หมด มันมีหลายร้อยกรุ๊ป เดี๋ยวต้องดูแล้วต้องเคลียร์งาน ใครอย่าเผลอมาเป็นเพื่อนกลุ่มไลน์ผมนะ ผมเซฟหมด ผมไว้ส่งความรู้ให้คุณดู โดยเฉพาะไลน์ผู้สูงอายุ ชมรมผู้สูงอายุ เวลาเจอกันถ่ายรูปกันเสร็จแล้วผมก็บอกว่ามีไลน์กรุ๊ปเดี๋ยวจะส่งให้แอดเขาไป เราก็ส่งให้เขาดูเรื่อยๆ เขายิ่งชอบใหญ่ ผมบอกว่าถ้าเบื่อเมื่อไหร่ก็ลบผมออกจากกลุ่มได้ เขาก็ไม่ลบเลยนะ

“สมัยก่อนผมนอนเจ็ดชั่วโมง เดี๋ยวนี้นอนหกชั่วโมงพอแล้ว  ที่ผมดูไม่แก่นี่คือต้องดูแลตัวเองนะ ต้องกินกล้วย กล้วยน้ำว้าทำให้หน้าไม่แก่ กล้วยน้ำว้านี่สุดยอดมันมีสารหลายตัวมากที่ทำให้ไม่แก่ มีวิตามินบี วิตามินซี วิตามินเอ วิตามินอี เยอะมาก แล้วมันมีสารทริปโตแฟนที่ทำให้หลับสนิท หลับสบาย ตื่นมามันไม่หงุดหงิด มันเป็นเซโรโทนิน แล้วผมก็ไม่คิดเรื่องโกรธใครข้ามคืนเลย ซึ่งก็ต้องฝึกนะ อย่าไปแค้น อย่าไปอาฆาตใคร

“เวลาทำบุญเสร็จ ผมก็จะกรวดน้ำส่งบุญกุศลที่ทำให้ไปถึงบุพการี พ่อแม่ปู่ย่าตาทวด พี่น้องที่เสียชีวิตไป และแม้แต่ผู้ที่เป็นศัตรู ก็ขอให้ได้รับส่วนกุศลในครั้งนี้ด้วย ขอให้เขาประสบแต่ความสุขความเจริญ เลิกทำกรรมร้าย เลิกทำสิ่งไม่ดี ทำอย่างนี้ทุกครั้งที่ทำบุญแล้วเราจะไม่เคยโกรธแค้นใครเลย ศัตรูขนาดเราทำบุญเกือบตาย เรายังยกให้เขาได้ จิตใจก็จะอ่อนลง เราก็จะไม่มีใครเป็นศัตรูเรา ใครที่ทำไม่ดีกับเรา เราก็อโหสิ เราไม่เคียดแค้น ชีวิตผมไม่มีศัตรูนะเพราะผมไม่เป็นศัตรูกับใคร”

คนที่ฟังท่านพูดเรื่องสุขภาพ อ้างอิงด้วยวิทยาศาสตร์อยู่เพลินๆ เมื่อ ศ. (วุฒิคุณ) ดร.นพ. พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ เปลี่ยนมาคุยเรื่องบาปบุญคุณโทษ การอุทิศส่วนกุศล ซึ่งอยู่นอกกรอบวิทยาศาสตร์ก็คงอดทึ่งไม่ได้

“ผมเคยเห็นผีตั้งแต่เด็กแล้ว ผมรู้ว่าเปรตเป็นยังไงเพราะผมเห็นน่ะ ไม่เคยเห็นก็จะไปพูดไม่ได้ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วนี่แน่นอน ช่วงไหนที่ทำไม่ดี ความดีความชั่วอยู่ในตัวเรา ทำความผิดเราทุกข์เอง ไม่ต้องไปสอนศาสนาอะไร ทำความผิดชีวิตมันเห็นหมด เห็นมาหมด ผมมั่นใจนะว่า คนที่มีความกตัญญูจะได้ดีทุกคน คนที่ทำกรรมชั่วคอรัปชั่นไม่ได้ดีทุกคน บางทีเราทำอะไรผิดๆเราก็ไม่ต้องไปสอนใคร เราเองก็รู้ว่าทำอะไรไม่ดี เคยไหมไปสถานที่บางแห่งที่ไม่เคยมา แต่ทำไมรู้สึกคุ้นๆเหมือนว่าเคยมาก่อน เพราะมันก็มีชาติก่อนชาตินี้ หรืออย่างคนบางคน ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ทำไมสนิทง่ายจังเลย คงเคยทำบุญด้วยกันมาแน่นอน เรื่องพวกนี้ถึงไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่”

และเมื่อพูดถึงเวรกรรม ปัญหาสุขภาพก็เป็นตัวอย่างในเรื่องผลของกรรม ที่ทำไว้ในอดีตของคนเราได้ชัดเจนที่สุด

“โรคประจำตัวของผม เป็นผลมาจากกรรมเก่าที่สูบบุหรี่ตอนวัยรุ่น เส้นเลือดแข็งตัว มีความดันต่ำๆก็ต้องกินยา ออกกำลังกายให้ดีขึ้น เพราะถ้าเส้นเลือดมันอักเสบ เวลามีอะไรผ่านไปมันก็จะเกาะติด เหมือนกับผิวพลาสติกไม่เรียบมีอะไรเคลื่อนมามันจะตกตะกอนอยู่ โดยเฉพาะตกตะกอนที่หัวใจก็อันตราย เมื่อผิวเส้นเลือดที่ไม่เรียบมีไขมันมันเกาะ วันดีคืนดีเกิดหลุดก็จะทำให้เส้นเลือดตัน หัวใจก็จะวาย ผมก็มีอาการนี้อยูบ้าง แต่ก็ดูแลรักษาตัวเองดีแล้ว ไม่มีปัญหาอะไร”

“ต้องเลิกกินขาหมูเลิกกินของมัน ข้าวมันไก่นี่เลิกมาจะยี่สิบปีแล้ว ขาหมูกินเฉพาะเนื้อ มันหมูไม่เอา อย่าไปตามใจตัวเอง แต่ก็จะไม่กินมังสวิรัติอย่างเดียวเพราะว่าทำให้ฮอร์โมนร่างกายเราถดถอย ต้องกินเนื้อสัตว์บ้าง ถ้าไม่กินเนื้อสัตว์ก็ต้องกินโปรตีนที่มาจากพืช ทุกวันนี้กินถั่วให้ผิวพรรณมันมีน้ำมีนวล ต้องกินพวกน้ำผักปั่น อาทิตย์ละสองสามครั้ง จะเป็นผักอะไรก็ได้ ต้องมีผักเขียว ผักสี สีแดง สีม่วง สีเขียว สีเหลือง สีขาวปนๆกัน อย่าหวานเพราะผักเหล่านี้จะมีความฝาด มีแทนนินอยู่ แทนนินเป็นด่าง มันจะดีต่อร่างกาย ถ้าร่างกายเราเป็นกรด เซลล์ต่างๆมันจะแย่ โดยเฉพาะถ้าเลือดเป็นกรดมากๆตาย ถ้าเป็นด่างมากหน่อยไม่เป็นไร พวกนี้ซึมผ่านสิ่งที่เข้าไปในปาก การกินอะไรที่เป็นด่างนิดๆคือพวกฝาดๆขมๆมันจะปรับสมดุลเลือดไม่ให้เป็นกรด การที่เลือดเป็นกรดไปเจอโปรตีน โปรตีนก็เสื่อมสภาพ ตกตะกอน ไขมันก็กลายเป็นไขมันที่ไม่ดี จากไขมันดีกลายเป็นไขมันเลว และจะไปตกตะกอนตามที่ต่างๆ ทำให้เส้นเลือดตีบตัน

“อาหารที่เป็นกรดเช่นของหวาน ของมัน ของเค็ม พวกนี้เป็นกรดหมดนะ พิสูจน์ได้ด้วยสารที่หยดใส่ทดสอบ กล้วยก็เหมือนกัน ถ้ากล้วยสุกหวานเป็นกรด ถ้ากล้วยฝาดกล้วยห่ามๆไม่หวานมากเป็นด่าง และคุณรู้ไหมมะนาวเป็นด่างนะ ไม่ใช่กรด เพราะมะนาวมีเปลือกมีแทนนินอยู่ มะนาวที่เปลือกขมมาก สิ่งแวดล้อมธรรมชาตินี่สุดยอดเลยนะ มันทำอะไรขึ้นมาให้สมดุลเอง แม้กระทั่งของเปรี้ยวยังเป็นด่าง อะไรที่มันเก็บจากต้นใหม่ๆยังอยู่ในตู้เย็นมันจะเป็นด่างอยู่นะ ทิ้งไว้นานๆจะเป็นกรด กินเข้าไปแล้วร่างกายไม่ดี

“นอกจากการกินดีแล้ว สิ่งที่ทำให้ดูไม่แก่ หน้าไม่เหี่ยว ก็คืออย่าถูกแดดมากนะ ดื่มน้ำเยอะๆ ทาครีมด้วย ครีมอะไรก็ได้ที่มันทำให้หน้าชุ่มชื้น เราต้องไม่เครียด ต้องออกกำลังกายนะ และสำคัญมากคือต้องมีเซ็กส์ อย่าเลิกนะ เพราะการมีเซ็กส์เป็นไดรฟ์อันหนึ่งของความเป็นสิ่งมีชีวิต ถ้าเมื่อไหร่ไม่มีเรื่องการสืบพันธุ์ มันตาย เพราะว่าช่วงที่มีเซ็กส์ จะมีฮอร์โมนต่างๆออกมามากมาย โดยเฉพาะในช่วงไคลแมกซ์เส้นเลือดจะขยายทั้งร่างกายเลย เมื่อเลือดไปเลี้ยงที่หน้าก็จะแดงระเรื่อ อย่าคิดว่ามันเป็นเรื่องอนาจาร ไปสังเกตเถอะคนที่ไม่มีเซ็กส์จะอายุสั้นกันหมด แต่ต้องทำแบบถูกต้อง ถูกที่ ถูกทาง ถูกโอกาสนะ เรื่องนี้มันเป็นเรื่องวัฒนธรรมประเพณีด้วย”

จากบทสนทนาหลากแง่มุมที่เต็มอิ่มครบทุกรสชาติ เปี่ยมด้วยความรู้ที่เป็นประโยชน์ทั้งในด้านการดูแลสุขภาพ ป้องกันความเจ็บป่วย ที่มาพร้อมกับเคล็ดลับดีๆในการสร้างความสำเร็จและความสุข ที่ได้เราได้รับเป็นวิทยาทานจาก  ศ. (วุฒิคุณ) ดร.นพ. พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ ในครั้งนี้ คงเป็นคำตอบที่ชัดเจน เพราะเหตุใดท่านจึงเป็นเจ้าของความสุขและความสำเร็จรอบด้าน อีกทั้งยังมีสุขภาพกายใจที่ดีเยี่ยม ดูอ่อนกว่าวัย และเราก็เชื่อว่า ความรู้ดีๆจากบทสนทนาอันทรงคุณค่านี้ จะเป็นแรงบันดาลใจและแนวทางให้ทุกคนหันมาใส่ใจสุขภาพอย่างจริงจัง เพื่อความสุขของตัวเราเองและครอบครัวไปตราบนานเท่านาน

Many Thai people are misunderstanding that their good health and good living depend on the medical technology or the ability of their doctors to heal the diseases instead of their own disease prevention. This is a misconception that leads to misbehavior which is the major factor of illness for individual and public health burden of the nation. This is a problem that affects our society in many dimensions in the present and will intensify in the future.  Dr. Porntep Siriwanarangsan, the President of the Preventive Medicine Association of Thailand, is one of the most influential activists in Preventive Medicine who has been promoting public health literacy for Thai people all along his career path. Throughout a long period of medical practice and leading positions in the Thai Ministry of Public Health, Dr. Porntep Siriwanarangsan’s dedication has made a great change to Thai Preventive Medicine that becomes one of the key factors in improving the quality of life for Thai people.


Text: วีร์วิศ

Photo: สรวิชญ์

หมายเหตุ 

บทสัมภาษณ์นี้ เป็นฉบับ Editor’s Cut ที่ได้จากการจัดทำ วารสาร Supalai@Home คอลัมน์ Pro talk ฉบับ Q4-2018

สนับสนุนการจัดทำบทสัมภาษณ์โดย บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน)

 

 

 

Related posts:

You may also like...