บริจาคอวัยวะ – บริจาคร่างกาย ดีไหม ?

human-skeleton-163715_640

คนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่สามารถเลือกได้ว่าจะมีชีวิตแบบไหน และหากคิดให้ครบถ้วนยาวๆไปจนถึงบั้นปลาย ก็ยังสามารถเลือกได้ว่า เมื่อถึงวาระสุดท้ายของชีวิตแล้วจะจัดการกับร่างกายของตัวเองอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด 

การตัดสินใจบริจาคร่างกายหรือการบริจาคอวัยวะ เป็นหนึ่งในแนวทางบริหารทรัพยากรชีวิตของคนเราให้เกิดคุณค่าต่อสังคมอย่างสูงสุด ด้วยการให้อย่างยิ่งใหญ่ แต่เป็นการให้ที่ตัวเราเอง ทายาท ครอบครัว หรือญาติมิตรที่อยู่เบื้องหลังไม่ได้เสียผลประโยชน์ใดๆ ไม่ว่าจะเพื่อเป็นวิทยาทานทางการแพทย์ หรือเพื่อต่อชีวิตให้กับผู้ป่วยที่รอคอยความหวัง

organ-donation-4107610_640

คนที่มีความตั้งใจอยากทำเรื่องบริจาคอวัยวะหรือบริจาคร่างกายเมื่อเสียชีวิต มีข้อมูลที่ต้องศึกษาให้เข้าใจก่อนที่จะตัดสินใจ เพราะคนส่วนใหญ่ยังสับสนกับเรื่องเหล่านี้ โดยอย่างแรกต้องเข้าใจวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันของการรับบริจาคแต่ละประเภท ซึ่งอ้างอิงตามข้อมูลจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จะแบ่งออกเป็น

การบริจาคอวัยวะ

คือ การบริจาคอวัยวะที่ยังมีสภาพสมบูรณ์เพื่อใช้ในการปลูกถ่ายอวัยวะให้แก่ผู้ป่วยที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยวิธีอื่น หรือเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย อาจได้จากอวัยวะของผู้มีจิตศรัทธาซึ่งได้แสดงเจตนารมณ์ในการบริจาคอวัยวะเอาไว้ หรือได้จากญาติที่มีความประสงค์จะบริจาค ผู้บริจาคต้องเสียชีวิตจากภาวะสมองตายเท่านั้น (ยกเว้น ไต 1 ข้าง, ตับ, ไขกระดูก ที่สามารถบริจาคได้ตอนยังมีชีวิตอยู่) หลังผ่าตัดเพื่อนำอวัยวะไปให้ผู้ป่วยที่ได้รับบริจาค แพทย์จะตกแต่งร่างกายของผู้บริจาคให้เรียบร้อย แล้วมอบให้ญาติไปประกอบพิธีทางศาสนา รับแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะจากทั่วประเทศ โดยติดต่อได้ที่ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย, เหล่ากาชาดจังหวัดทุกแห่ง, โรงพยาบาลประจำจังหวัด ผู้บริจาคต้องมีอายุไม่เกิน 65 ปี ปราศจากโรคติดเชื้อ และโรคมะเร็ง ไม่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน, หัวใจ, โรคไต, ความดันโลหิตสูง, โรคตับ และไม่ติดสุรา อวัยวะที่จะบริจาคต้องทำงานได้ดีปราศจากเชื้อที่ถ่ายทอดทางการปลูกถ่ายอวัยวะ เช่น ไวรัสตับอักเสบชนิดบี, ไวรัสเอดส์ ฯลฯ โดยผู้บริจาคควรแจ้งเรื่องการบริจาคอวัยวะให้บุคคลในครอบครัวหรือญาติรับทราบด้วย

การบริจาคดวงตา

เป็นการแสดงความจำนงตั้งแต่ยังมีชีวิต เพื่อมอบดวงตาของตนเองภายหลังจากเสียชีวิตแล้ว ซึ่งทางศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทยจะได้นำไปเปลี่ยนให้กับผู้ป่วย เพื่อให้สามารถกลับมามองเห็นได้เป็นปกติอีกครั้ง โดยสามารถแสดงความจำนงในการบริจาคดวงตาได้ทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่อายุ 2 ขวบ เป็นต้นไป  เมื่อบริจาคดวงตาแล้วจะได้รับบัตรประจำตัวผู้บริจาคดวงตา ควรพกบัตรผู้บริจาคติดตัวไว้และแจ้งให้ญาติรับทราบว่าได้ทำเรื่องบริจาคไว้ในระหว่างมีชีวิต ภายหลังเสียชีวิตดวงตาจะเริ่มเสื่อมสภาพ และเน่าเปื่อย ดังนั้นเพื่อให้ดวงตาที่มีสภาพดีที่สุด ญาติของผู้แสดงความจำนงในการบริจาคควรโทรแจ้งศูนย์ดวงตาทันทีหลังผู้บริจาคเสียชีวิต เพื่อให้ศูนย์ดวงตาได้จัดเก็บดวงตาโดยเร็วที่สุด ซึ่งควรจัดเก็บให้เรียบร้อยภายใน 6-8 ชั่วโมง

การบริจาคร่างกายเพื่อการศึกษา

คือการอุทิศรางกายให้นักศึกษาแพทย์ใช้ศึกษา โดยเรียกกันว่า “อาจารย์ใหญ่” เป็นการสร้างประโยชน์ให้กับวงการแพทย์และการสาธารณสุข ร่างกายผู้บริจาคจะถูกใช้เพื่อการศึกษาของนิสิตแพทย์ และแพทย์ประจำบ้าน ในการฝึกอบรมหัตถการต่างๆ และงานวิจัยทางการแพทย์  เพื่อเก็บเนื้อเยื่อบางส่วนสำหรับการรักษาทางการแพทย์ เพื่อให้แพทย์เฉพาะทางได้ทำการฝึกผ่าตัด  และเพื่อเก็บโครงกระดูกไปใช้ในการศึกษาต่อไป โดยจะต้องเป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว หากยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องได้รับการยินยอมจากบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง และไม่มีกำหนดว่าอายุมากกว่าเท่าใดจึงจะไม่รับ ผู้บริจาคเสียชีวิตจากสาเหตุธรรมชาติ และมีอวัยวะครบ ไม่เป็นโรคติดต่อร้ายแรง เช่น โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (โรคเอดส์) โรคติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี วัณโรค และพิษสุนัขบ้า รวมถึงต้องไม่เกี่ยวข้องกับคดี หลังจากการเสียชีวิต ญาติต้องแจ้งให้ไปรับร่างภายใน 24 ชั่วโมง และหลังการศึกษา 2 ปี ทางคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลนั้น ๆ จะประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลให้เอง แสดงความจำนงโดยติดต่อได้ที่คณะแพทยศาสตร์ทุกแห่ง ซึ่งแต่ละแห่งมีเกณฑ์ การรับอุทิศร่างกายต่างกัน

ศึกษาให้เข้าใจก่อนบริจาค

ที่ต้องศึกษาเรื่องการบริจาคทุกประเภทให้กระจ่างก็เพราะหลายคนยังเข้าใจผิดว่า เมื่อตัดสินใจบริจาคร่างกายให้ทางโรงพยาบาลแล้วย่อมหมายถึงการบริจาคอวัยวะให้ผู้ป่วยนำไปใช้ด้วย ซึ่งการบริจาคทั้ง 3 รูปแบบนี้ ต้องแจ้งความจำนงแบบแยกกัน ไม่เกี่ยวข้องกัน

ในสังคมยุคใหม่ที่ผู้คนมีการศึกษาที่ดี มีการให้ความสำคัญกับการพึ่งพาตัวเอง ใช้ชีวิตตามลำพังไม่เกี่ยวข้องกับสังคมเครือญาติ และไม่อยากให้ชีวิตของตนเองทั้งก่อนและหลังความตายเป็นภาระของผู้อื่น จำนวนของการแจ้งความจำนงบริจาคร่างกายและ/หรือบริจาคอวัยวะมีแนวโน้มสูงขึ้น เพราะผลพลอยได้หนึ่งของการบริจารร่ายกายเพื่อการศึกษาคือโอกาสที่จะได้รับการจัดการศพตามระบบของหน่วยงานทางการแพทย์ที่รับบริจาค ลดภาระกับผู้ที่อยู่เบื้องหลังในการจัดการด้านพิธีการและขั้นตอนต่างๆ

ในแง่มุมความเชื่อ

อาจมีคนที่คิดว่าการบริจาคอวัยวะหลังเสียชีวิตจะทำให้ชีวิตหลังความตายต้องพบกับความพิกลพิการ หรือบางคนก็คิดว่า การบริจาคร่างกายเพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์นำไปใช้เพื่อศึกษาเป็นอาจารย์ใหญ่นั้น จะต้องถูกนำร่างไปชำแหละแยกส่วนทำให้ชีวิตหลังความตายไม่ได้รับความสุขสงบ แต่หากพิจารณาด้วยสติปัญญาอย่างเป็นเหตุเป็นผล ร่างกายของผู้ที่เสียชีวิตแล้วทุกคนย่อมไม่เหลือประโยชน์ ถ้าปล่อยให้เน่าเปื่อยบุบสลายไปตามธรรมชาติ เมื่อนำไปเผาหรือฝังก็เป็นธุลีดินที่ปราศจากคุณค่าใดๆ หากร่างกายนั้นหรืออวัยวะที่เหลืออยู่นั้น สามารถนำมาช่วยเหลือชีวิตผู้อื่น หรือช่วยเหลือสังคมได้ ก็จะทำให้เป็นการจากไปที่ไม่สูญเปล่า

การพิจารณาที่จะบริจาคร่างกายหรืออวัยวะในยามล่วงลับจึงเป็นเรื่องที่น่าภูมิใจทั้งต่อตัวเราเองและต่อครอบครัวผู้ที่เป็นที่รักเบื้องหลัง ที่จะได้สร้างคุณค่าให้กับโลกใบนี้อย่างสูงสุด

อ้างอิง https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/body-and-organ-donations/

 

Related posts:

You may also like...