โลกมนุษย์ย่อมจะดีกว่านี้แน่ ถ้ามี Universal Design

dad

UNIVERSAL DESIGN การออกแบบที่เป็นมิตรกับทุกชีวิต

ว่ากันว่า…เมื่อคนเราเริ่มแก่ตัวลง จะมีนิสัยชอบโหยหาอดีต ชอบพูดถึงเรื่องเก่าๆ ความสำเร็จเดิมๆ ที่ผ่านมา บ้างก็บอกว่า โลกในสมัยก่อนเมื่อครั้งที่ตัวเองยังเป็นหนุ่มสาวหรือตอนเป็นเด็ก เป็นโลกที่ดีกว่านี้ ซึ่งการจะตัดสินว่าโลกทุกวันนี้ดีกว่าหรือแย่กว่าโลกเดิมๆนั้น บางอย่างก็ขึ้นอยู่กับพื้นฐานความคิดแต่ละบุคคล แต่บางอย่างนั้นมีคำตอบที่ชัดเจน มีเหตุผลที่พิสูจน์ได้เป็นตัวชี้วัด

สิ่งหนึ่งที่บอกได้แน่นอนว่า โลกในวันนี้ดีขึ้นกว่าในอดีตอย่างไม่ต้องสงสัย ก็คือการยอมรับที่เปิดกว้างมากยิ่งขึ้น และเป็นรูปธรรมมากขึ้น ในเรื่องสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมกันของมนุษย์ ซึ่งแต่เดิม มนุษย์เรามีการแบ่งแยกระดับชนชั้นในการเข้าถึงโอกาส ทรัพยากร และความสะดวกสบายต่างๆ ด้วยเงื่อนไขมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เชื้อชาติ ศาสนา เพศ วัย สถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคม เรื่อยไปจนถึงรสนิยมทางเพศ รูปลักษณ์ ภาษา วัฒนธรรม และความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกาย

pexels-photo-2026764

การแบ่งแยกต่างๆเหล่านี้ ทำให้ในอดีตที่ผ่านมา มีกลุ่มผู้เสียสิทธิ์และโอกาสในหลายรูปแบบ เช่น ผู้หญิงไม่มีสิทธิ์ได้รับการศึกษา คนยากจนไม่มีสิทธิ์เข้าถึงบริการด้านสุขภาพ ผู้พิการและผู้สูงอายุไม่ได้รับความสะดวกสบายในการใช้พื้นที่หรือทรัพยากรสาธารณะ หรือแม้แต่ความสะดวกสบายในพื้นที่อยู่อาศัยของตัวเอง คนรักเพศเดียวกันไม่ได้รับสิทธิ์ให้ใช้ชีวิตคู่ร่วมกันอย่างเปิดเผย ฯลฯ

เมื่อโลกของเราได้พัฒนาไปสู่ช่วงเวลาที่ดีขึ้น ทำให้เส้นแบ่งที่เคยเป็นอุปสรรคแห่งความเท่าเทียมของมนุษย์ค่อยๆสลายไป ด้วยจิตสำนึกและหัวใจที่เปิดกว้างขึ้น ความตระหนักในสิทธิเสรีภาพองตนเองและผู้อื่น ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจและความปรารถนาดีต่อทุกสมาชิกในสังคม เป็นแรงขับเคลื่อนดันสำคัญให้มีการพัฒนาทางเทคโนโลยีที่ทันสมัยในด้านต่างๆ มารองรับความเปิดกว้างเท่าเทียมนั้นได้อย่างสอดคล้องและหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นระบบสื่อสารอัจฉริยะ และเทคโนโลยีการออกแบบต่างๆ ที่พัฒนาอย่างสุดล้ำในทุกสาขา คนทุกคนจึงมีแนวโน้มที่จะดำรงชีวิตอยู่ในโลกนี้ได้อย่างสุขสบายขึ้น รู้สึกถึงเกียรติและศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ของตัวเองที่ไม่ด้อยกว่าคนอื่นๆ เป็นโลกที่เคลื่อนสู่ยุคสมัยแห่งความเป็นอารยะอย่างแท้จริง

pexels-photo-1251174

หนึ่งในกลไกสำคัญที่เป็นเครื่องสะท้อนถึงความเป็นอารยะของโลกยุคใหม่ได้อย่างชัดเจนคือ Universal Design ที่แปลตรงๆว่า การออกแบบให้เป็นสากล การออกแบบเพื่อคนทั้งมวล หรือการออกแบบเพื่อการใช้งานของคนทุกกลุ่มในสังคม แต่นิยมเขียนแบบไทยว่า อารยสถาปัตย์  ซึ่งหมายถึง การออกแบบ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน บริการต่างๆผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงของใช้ในชีวิตประจำวัน ให้สามารถรองรับคนทุกกลุ่มในสังคมได้อย่างเท่าเทียมทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเป็น ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ป่วยพักฟื้น สตรีมีครรภ์ เด็ก ฯลฯ ซึ่งเป็นแนวคิดสร้างสรรค์เพื่อประโยชน์ส่วนรวม

pexels-photo-2050979

แนวคิด Universal Design ที่มีการบันทึกหลักฐานเป็นรูปธรรม เกิดขึ้นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากมีจำนวนคนพิการมากขึ้น สิ่งของเครื่องใช้ที่มีอยู่เป็นอุปสรรคสำหรับคนเหล่านี้ สมาคมมาตรฐานแห่งชาติของสหรัฐอเมริกาจึงได้ออกกฎหมายคนพิการขึ้น ในปี 1990 เพื่อรับรองสิทธิให้ทัดเทียมกับคนทั่วไป แต่กฎหมายนี้ยังใช้ไม่ได้กับสินค้าหรือบริการทุกอย่าง ศาสตราจารย์ Ronald L. Mace แห่งมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา ซึ่งเป็นผู้พิการ ได้เริ่มทดลองออกแบบของใช้ส่วนตัวเอง และนำหลักการนี้มาพัฒนาออกแบบผลิตภัณฑ์สำหรับคนพิการ โดยเน้นความทัดเทียมของบุคคลทุกคนที่สามารถใช้ผลิตภัณฑ์และบริการที่ออกแบบอย่างเดียวกันได้ ซึ่งช่วยลดความแปลกแยกแตกต่างของคนในสังคม และในปี 1997 องค์การสหประชาชาติพยายามเผยแพร่และส่งเสริมแนวคิดเรื่อง Universal Design เพื่อให้คนทุกคนที่อยู่ในสังคมสามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งต่างๆได้เต็มที่เท่าเทียมกัน

แม้จุดกำเนิดของ Universal Design ที่มาจากผู้พิการทำเพื่อผู้พิการ จะสอดรับกับสาระใน บทกวี “ชนชั้นใดเขียนกฎหมาย ก็แน่ไซร้เพื่อชั้นนั้น” ซึ่งเขียนขึ้นโดย “ศรี อินทปันตี” กวีหัวก้าวหน้าคนหนึ่งของสังคมไทยในช่วงปี พ.ศ. 2500 แต่การพัฒนาให้เกิดผลนั้นไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย หากปราศจากการเปิดตาเปิดใจยอมรับความจริงร่วมกันของคนทุกชนชั้นว่า คนทุกคนในโลกนี้ล้วนคู่ควรกับการมีชีวิตที่ดีและมีสิทธิ์ที่จะมีความสุข จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่เราควรเรียนรู้ถึงความสำคัญของ Universal Design เพราะท้ายที่สุดแล้ว เรื่องนี้ก็เกี่ยวข้องกับชีวิตเราไม่ว่าวันใดวันหนึ่ง โดยเหตุผลที่ Universal Design มีความสำคัญ ได้แก่

  1. การเพิ่มจำนวนประชากรผู้สูงอายุทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยที่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ปัจจุบันมนุษย์มีอายุยืนยาวมากขึ้น มีความต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกและปลอดภัยในการดำเนินชีวิตประจำวัน ข้อมูลจากสหประชาชาติระบุว่า ในปี 2565 จำนวนประชากรผู้สูงอายุทั่วโลกจะมีมากกว่า 1,000 ล้านคน
  2. จำนวนคนพิการมากขึ้น ความพิการที่ไม่ได้มาจากความพิการโดยกำเนิด แต่มาจากอุบัติเหตุ การเจ็บไข้ได้ป่วย สภาพความแก่ชรา ซึ่งคนพิการที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นต่างจำเป็นและต้องการใช้สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆในชีวิตประจำวัน
  3. กฎหมายบังคับใช้ ประเทศอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี ญี่ปุ่นฯลฯ มีการออกกฎหมายบังคับให้สถานที่สาธารณะตึกอาคาร ต้องจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อคนทั้งมวล สำหรับประเทศไทยมีกฎหมายหลายฉบับบังคับใช้ เช่น กฎหมายส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ซึ่งมีผลบังคับใช้ให้การออกแบบสร้างตึกอาคาร สถานที่สาธารณะทุกแห่งต้องมี Universal Design ต้องจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ Universal Design ยังเป็นเหมือนตัวชี้วัดความเจริญของประเทศต่างๆในโลกยุคปัจจุบันได้อีกทางหนึ่ง

ไหนๆ ก็เปิดใจอ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้ว ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ก็ขอแถมอีกนิด เกี่ยวกับ หลัก 7 ประการที่สำคัญของ Universal Design ซึ่งประกอบด้วย

  1. ความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ทุกคนในสังคมสามารถใช้งานได้อย่างเท่าเทียม ไม่แบ่งแยก ไม่เลือกปฏิบัติ
  2. ความยืดหยุ่นในการใช้งาน การออกแบบรองรับการใช้สอยจากผู้ใช้ที่หลากหลาย สามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานได้ทั้งด้านซ้ายและด้านขวา ตามการเคลื่อนไหวของผู้ใช้
  3. ใช้ง่ายเข้าใจง่าย ใช้รูปภาพเป็นสัญลักษณ์สากล สื่อสารเข้าใจง่าย ออกแบบเรียบง่ายสามารถใช้งานได้โดยไม่ต้องมีประสบการณ์ ความรู้ ภาษา
  4. ข้อมูลชัดเจน ให้ข้อมูลที่เข้าใจง่าย ไม่ต้องอาศัยการรับรู้ทางร่างกายที่มากเกินไป
  5. ระบบป้องกันอันตราย มีระบบป้องกันความผิดพลาดในการใช้งาน ก่อให้เกิดอันตรายน้อยที่สุด
  6. ใช้แรงน้อย ทุ่นแรง สะดวกไม่ต้องออกแรงมาก
  7. ขนาดและพื้นที่ใช้งานที่เหมาะสมกับการเข้าถึงและใช้สอย มองเห็นชัดเจน ไม่ว่าจะยืนหรือนั่งบนรถเข็น สะดวกในการใช้งานทั้งการเอื้อมการจับ โดยปราศจากเงื่อนไขข้อจำกัดทางร่างกายหรือการเคลื่อนไหว

สำหรับประเทศไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุนั้น ก็ว่าโชคดีหรือยังไงก็ไม่เชิงที่ผู้มีอำนาจบริหารประเทศจำนวนไม่น้อย ก็เป็นวัยผู้สูงอายุ ทำให้การผลักดันเรื่อง Universal Design เป็นไปได้อย่างไม่ติดขัด แม้จะยังเป็นช่วงเริ่มต้น แต่ก็เป็นนิมิตหมายอันดีที่ ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนหันมาให้ความใส่ใจกับแนวคิด Universal Design ทำให้มีการออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น เช่น ระบบขนส่งรถไฟฟ้าใต้ดินที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆสำหรับผู้พิการ รถไฟเพื่อคนพิการ รถเมล์โดยสารปรับอากาศชานต่ำเพื่อผู้พิการ แท็กซี่วีลแชร์ แหล่งท่องเที่ยวทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดรวมถึงห้างสรรสินค้าที่เพิ่มห้องน้ำคนพิการ เพิ่มทางลาดด้านหน้าสถานที่และอาคาร

แม้ในรายละเอียด การขับเคลื่อนเรื่อง Universal Design ในประเทศไทยยังมีอุปสรรคและข้อจำกัดอีกมากมาย เช่น ปัญหาการเข้าถึงสวัสดิการของผู้สูงอายุ งบประมาณค่าใช้จ่าย ข้อกฎหมายบางอย่างที่จำกัด ฯลฯ แต่ก็มีแนวโน้มจะดีขึ้นเรื่อยๆ ดุจดังท่อนหนึ่งของเนื้อเพลง ความฝันอันสูงสุด ที่ว่า “โลกมนุษย์ย่อมจะดีกว่านี้แน่ เพราะมีผู้ไม่ยอมแพ้แม้ถูกหยัน”

หนทางหนึ่งในการสร้างแนวทางเพื่อพัฒนา Universal Design ในประเทศไทยให้เติบโตขึ้น คือ ประชาสัมพันธ์ สื่อสารสร้างความรู้ให้กับสังคมเพื่อให้มีจิตสาธารณะมากขึ้น การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ปรับปรุงสถานที่ต่างๆให้มี Universal Design อย่างยั่งยืนในอนาคต แก้ไขสภาพแวดล้อมที่ล้าหลังทั้งการออกแบบอาคารสถานที่ การบริการสาธารณะเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ร่วมกันได้อย่างเท่าเทียม ซึ่งฟังดูแล้วเป็นแนวทางระดับองค์กรขนาดใหญ่ ส่วนในระดับประชาชนคนธรรมดาอย่างเรา ก็ทำได้ด้วยการเป็นกระบอกเสียง เรียกร้องสิทธิ์ และช่วยกันทำในส่วนที่ทำได้ รวมถึงช่วยสร้างบันดาลใจให้ผู้ผลิตหรือภาคธุรกิจหันมาสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เป็นอารยะให้มากขึ้น

ในยุคที่สถาปัตยกรรมและการออกแบบต่างๆเริ่มสะท้อนสถานการณ์โลก สิ่งก่อสร้างทางสถาปัตยกรรมที่หรูหราสวยงามแต่เพียงอย่างเดียวอาจไม่ได้สะท้อนถึงความเจริญของบ้านเมืองเสมอไป หากแต่เป็นแนวคิดในการสร้างสรรค์และออกแบบให้คนในสังคมทุกประเภททุกเพศทุกวัยได้อยู่อาศัย ใช้สอยประโยชน์จากผลงานเหล่านี้อย่างทั่วถึงเท่าเทียม เพื่อดำเนินชีวิตได้อย่างมีคุณภาพและมีความสุขอย่างแท้จริง สิ่งเหล่านี้คือหัวใจสำคัญของ Universal Design

 

อ้างอิง : บทความวิชาการ เรื่อง อารยสถาปัตย์ (Universal Design) โดย นางสาวพรวิทู โค้วคชาภรณ์

บรรณารักษ์ปฏิบัติการ กลุ่มงานห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์ สำนักวิชาการ สำนักเลขาธิการวุฒิสภา

 

 

Related posts:

You may also like...