ครอบครัวขยายและอนาคตผู้สูงวัย ในสังคมฟิลิปปินส์

Conrad Manila

ดิฉันเดินทางไปทำงานที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อปลายเดือน พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา โรงแรมที่เราเข้าพัก คือ คอนราด มะนิลา ซึ่งตั้งอยู่ริมทะเล ในย่านธุรกิจและการท่องเที่ยว ใกล้กับ Mall of Asia ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ เจ้าของเดียวกับโรงแรม

ช่วงที่เดินทางไปนั้น เป็นฤดูมรสุมของฟิลิปปินส์ ถือว่าเป็น Low Season แต่น่าประหลาดใจที่โรงแรมมีแขกมาเข้าพักไม่ขาดสาย และที่น่าแปลกใจกว่านั้นคือ แขกส่วนใหญ่เป็นชาวฟิลิปปินส์ ซึ่งถ้าสังเกตดีๆจะเห็นว่า เขามากันเป็นกรุ๊ปใหญ่ๆก็จริง แต่เป็นกรุ๊ปครอบครัว ไม่ใช่กรุ๊ปทัวร์

Conrad Manila

Conrad Manila

ในหนึ่งกรุ๊ปมีตั้งแต่สมาชิกรุ่นปู่ย่าตายาย รุ่นพ่อแม่ หนุ่มสาววัยรุ่น เด็กวัยเรียน เรื่อยไปจนถึงทารก ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก เพราะในโลกยุคใหม่ที่รูปแบบครอบครัวขยายค่อยๆลดลงกลายเป็นครอบครัวเดี่ยว เราจะไม่ค่อยได้เห็นอะไรแบบนี้ในสังคมเมืองยุคใหม่ของประเทศอื่นๆ รวมถึงในประเทศไทย ซึ่งบ้านเรานั้น ยังมีการรวมญาติสังสรรค์กินข้าวกัน หรือไปทำบุญร่วมกันบ้างนานๆที แต่ถ้ายกตระกูลไปเที่ยวหรือเปิดโรงแรมพักร่วมกันนี่จะไม่ค่อยเห็นบ่อย ถ้าเป็นในสังคมชนบทก็ยังพอหลงเหลือให้เห็นบ้าง สมัยเด็กๆครอบครัวดิฉันก็เคยยกทีมกันไปตั้งแคมป์พักผ่อนริมทะเลกับญาติพี่น้องนับสิบคนเหมือนกัน แต่นั่นก็สี่สิบปีมาแล้ว

0006

Conrad Manila

ตอนแรกดิฉันคิดเอาเองว่า แขกเหล่านี้ส่วนใหญ่คงเป็นคนจากต่างจังหวัดเดินทางมาเที่ยวในเมืองหลวง แต่เพื่อนๆที่เป็นผู้บริหารโรงแรมบอกว่าไม่ใช่ ส่วนใหญ่เป็นคนในมะนิลานี่แหละ เป็นวัฒนธรรมของคนฟิลิปปินส์ที่มีความผูกพันแน่นแฟ้นกับครอบครัว และถ้าเป็นคนมีเงิน เขาก็จะนิยมยกครัวกันมาท่องเที่ยวพักผ่อนตามโรงแรมหรูๆในวันหยุด เปิดห้องสวีทพักรวมกันหลายคน ใช้เวลาร่วมกันทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งกินดื่ม เดินห้าง ช้อปปิ้ง ออกไปเที่ยว ไปเล่นคาสิโน ฯลฯ

61370172_10219193124601813_9016210323761266688_o

Okada Casino Manila

โปรโมชั่นของร้านอาหารที่ติดในลิฟต์ก็สะท้อนดีมานด์ตลาดครอบครัวขยายได้ชัดเจน เขามีขายแพคเกจบุฟเฟ่ต์มื้อละ 30,000 เปโซ มากินได้ 20 คนในวันพ่อ ซึ่งของไทยเราถ้าเป็นวันพิเศษอะไรทำนองนี้ อย่างมากก็จะเป็นแนว พาพ่อแม่มาด้วยจะได้ส่วนลดนิดหน่อย หรือพ่อแม่ได้กินฟรีหนึ่งคน ไม่ค่อยเห็นที่ไหนมีกรุ๊ปแฟมิลี่แพคเกจ

สำหรับคนฟิลิปปินส์ที่ไม่ได้มีเงินพักโรงแรมหรูเขาก็เที่ยวพักผ่อนเป็นครอบครัวเหมือนกัน โดยนิยมไปนั่งเล่นปิคนิคสังสรรค์กันตามสวนหรือลานสาธารณะต่างๆ หรือถ้าเป็นในชุมชนก็จะเห็นคนนั่งริมถนนหน้าบ้าน ล้อมวงพูดคุย กินดื่มกันสนุกสนาน ดูแล้วก็รู้สึกว่าเป็นภาพที่มีความสุขอบอุ่นใจดี

61651469_10219201804098795_5677478772790525952_o

Community in the Intramuros

แต่พอตกดึกมาเปิดทีวีดูรายการเกี่ยวกับการเงินการลงทุนของฟิลิปปินส์ ก็มีนักวิเคราะห์และผู้รู้หลายคนมาแสดงความห่วงใยว่า รูปแบบความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นของครอบครัวขยายเช่นนี้ ก็มีทั้งแง่ดีและไม่ดี

ในด้านที่ไม่ดีคือ จะทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว เพราะเป็นตัวกระตุ้นภาวะพึ่งพิง ซึ่งหมายการไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ในทางเศรษฐกิจของปัจเจกบุคคล โดยเฉพาะผู้สูงอายุในครอบครัวชนชั้นกลางลงไป ที่คาดหวังว่าตัวเองจะได้รับความดูแลจากสมาชิกคนอื่นๆในครอบครัว จึงไม่มีการวางแผนเงินออมในช่วงที่ตัวเองยังทำงานหาเงินได้ ไม่มีการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนระยะยาวสำหรับดูแลตัวเองในยามแก่เฒ่า เพราะตอนยังแข็งแรงเป็นหนุ่มสาว จะเน้นทำงานใช้จ่ายส่งลูกหลานเรียนเป็นหลัก เมื่อลูกหลานเรียนจบ พ่อแม่เลิกทำงาน ไม่มีรายได้ ก็มุ่งหวังว่าลูกหลานจะกลับมาส่งเสียดูแลพ่อแม่ มาเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายต่างๆของครอบครัวใหญ่

ซึ่งคิดดูก็น่าจะเป็นเรื่องใหญ่จริงๆ เพราะนอกจากคนวัยทำงานที่มีรายได้จะต้องรับภาระดูแลพ่อแม่แล้ว ก็ยังต้องแบกภาระเลี้ยงดูลูกหลานของตัวเองที่เกิดมาด้วย แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นข้อดีหรือข้อเสียที่สังคมคนฟิลิปปินส์นิยมมีลูกหลายคน แม้แต่คนขับแท็กซี่ก็มีลูกสี่คน และเขาบอกว่า คนแถวบ้านก็มีลูกเยอะทั้งนั้น

61528091_10219201800858714_6911868226385215488_o

View from Fort Santiago

การมีลูกมาก มองในแง่ดีก็อาจจะทำให้มีการช่วยแบ่งเบาหน้าที่ในการดูแลพ่อแม่ที่แก่ชราในหมู่พี่น้อง ไม่ต้องเป็นภาระของลูกใดคนหนึ่ง ก็อาจจะไม่หนักหนาจนเกินไป แต่สำหรับครอบครัวคนรุ่นใหม่ การมีลูกหลายคนก็ดูเป็นเรื่องที่ต้องคิดถึงค่าใช้จ่ายให้ดีๆ อย่างที่เขาว่า มีลูกหนึ่งคนจนไปเจ็ดปี นั่นแหละ เพราะเด็กๆในครอบครัวชนชั้นกลางก็มีค่าใช้จ่ายเยอะ มีวัฒนธรรมหลายอย่างที่บอกให้รู้ชัดเจนว่า นอกจากค่าดูแลบุพการีแล้ว การดูแลเด็กๆและคนหนุ่มสาววัยเรียนเป็นภาระสำคัญของครอบครัว อย่างเช่น งานพรอม หลังจบมัธยมและจบมหาวิทยาลัย ซึ่งทางสถานศึกษาเป็นผู้จัดและขายบัตรราคาสูง ให้วัยรุ่นหนุ่มสาวที่จบการศึกษา ได้แต่งชุดราตรีสวยหรูมาสังสรรค์กัน โดยถ้าเป็นโรงเรียนดังๆ ก็จะเลือกจัดในโรงแรมห้าดาว ซึ่งคนหนุ่มสาววัยเรียนที่ไม่มีรายได้ก็ต้องใช้เงินพ่อแม่ ทำนองเดียวกับในบ้านเรา สิ่งเหล่านี้สะท้อนภาวะพึ่งพิงที่เห็นชัดในครอบครัวคนเอเชียยุคเก่าๆ

Nemiranda​ Art Exhibition By Nemi R. Miranda Jr.

Nemiranda​ Art Exhibition
By Nemi R. Miranda Jr.

เมื่อค่าใช้จ่ายของคนวัยทำงานที่ต้องหาเงินมาเลี้ยงครอบครัวเป็นภาระหนัก ก็เป็นธรรมดาที่สัดส่วนเงินออมและเงินลงทุนจะมีน้อย หรือบางครอบครัวก็ไม่มีเลย ซึ่งผลกระทบจากปัญหานี้จะยังไม่เห็นชัดในช่วงที่สังคมฟิลิปปินส์ยังเป็นครอบครัวขยาย แต่จะกลายเป็นปัญหาใหญ่คล้ายๆกับในประเทศไทยและอีกหลายประเทศ ที่ลูกหลานแยกตัวออกมาจากครอบครัว เลิกส่งเสียเลี้ยงดูพ่อแม่ ผู้สูงอายุไม่มีเงินเก็บไม่มีรายได้ ถูกทอดทิ้งให้เป็นปัญหาสังคมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และในบางสังคม สาธารณูปโภคและสวัสดิการภาครัฐก็ยังไม่เพียงพอที่จะรับมือกับปัญหานี้อย่างเป็นรูปธรรม

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ที่เขาพูดอยู่ในทีวีนั้นมาจากบริษัทสถาบันการเงิน ความห่วงใยของเขา ที่ออกมาบอกให้ประชาชนเอาเงินมาฝากและมาลงทุนกันเยอะๆนั้น ส่วนหนึ่งย่อมเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของสถาบันการเงินที่จะได้มีลูกค้าเพิ่มขึ้นเยอะๆ ก็ใช้กลยุทธ์โยนความกลัวเข้าไปกระตุ้น แล้วตามด้วยการโยนความอยากมั่งคั่งเข้าไปเป็นเป้าหมายสมมุติ แต่การไม่มีเงินเก็บไม่มีเงินออมในระดับที่ดูแลตัวเองได้นั้นก็น่ากลัวอยู่เหมือนกัน

Nemiranda​ Art Exhibition By Nemi R. Miranda Jr.

Nemiranda​ Art Exhibition
By Nemi R. Miranda Jr.

แต่เมื่อคิดให้ดี คิดให้ลึก คิดให้ไกลไปถึงประวัติศาสตร์อันโหดร้ายทารุณของประเทศนี้ แล้วมองที่รอยยิ้ม ความสุขของผู้คนซึ่งกำลังนั่งสังสรรค์กับครอบครัวที่เขารักในเวลานี้ ไม่ว่าจะเป็นในห้องอาหารโรงแรมห้าดาว หรือปูเสื่อในสวนสาธารณะ

ดิฉันก็อดคิดไม่ได้ว่า บางทีื… ผู้คนในประเทศนี้ อาจจะมาถูกทางแล้วก็ได้ เพราะการทำงานหนัก หาเงินของคนเรา ก็เพื่อนำมาซื้อความสุขให้ตัวเอง และคนที่เรารัก การได้ใช้เวลาอยู่กับครอบครัว ท่ามกลางคนที่รักและหวังดีต่อกัน ได้หัวเราะด้วยกันเมื่อเบิกบาน ได้ร้องไห้ด้วยกันในยามเศร้า บางครั้งก็เป็นสิ่งที่เงินซื้อไม่ได้ อย่าลืมว่าคนในชาตินี้ เขาเคยถูกหลายๆประเทศมหาอำนาจรุมรังแกข่มเหงมานานเป็นร้อยปี ผ่านศึกสงคราม ต้องบ้านแตกสาแหรกขาด ต้องกลายเป็นผู้อพยพลี้ภัยไปยังประเทศอื่นๆ บ้างก็สิ้นไร้ไม้ตอกจนต้องพลัดพรากจากถิ่นฐานไปขายแรงงานต่างแดน

มาถึงตอนนี้ บ้านเมืองเขาได้พบกับความสงบสุขมากขึ้น ผู้คนเป็นอิสระจากการกดขี่ข่มเหงของคนต่างชาติ ธุรกิจในหลายภาคส่วนมีแนวโน้มกำลังเติบโต ผู้คนลืมตาอ้าปากได้ มีงานให้ทำในประเทศ ซึ่งไม่ว่าค่าแรงจะมากหรือน้อย การที่ตกเย็นแล้วได้กลับมากินข้าวกับครอบครัว วันหยุดก็ไปปูเสื่อนั่งในสวน คนรวยหน่อยก็พาครอบครัวมาพักโรงแรม ได้มีรอยยิ้ม มีความอบอุ่น สิ่งเหล่านี้มีความหมายมากกว่าเงินทอง

Nemiranda​ Art Exhibition By Nemi R. Miranda Jr.

Nemiranda​ Art Exhibition
By Nemi R. Miranda Jr.

ดิฉันเห็นด้วยกับนักวิเคราะห์ว่า เราควรออมและวางแผนการเงินให้รอบคอบเพื่อไม่ให้ตัวเองต้องเป็นภาระของใคร แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่เชื่อว่า ความสุขหรือความสำเร็จของคนเราวัดกันที่ระดับความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว

โดยเฉพาะสำหรับฟิลิปปินส์ เมื่อดิฉันได้ศึกษาประวัติศาสตร์ของเขาอย่างจริงจัง ประกอบกับการที่ได้สัมผัสงานศิลปะของศิลปินท้องถิ่นชื่อดัง Nemesio “Nemi” R. Miranda Jr. ที่บอกเล่าเรื่องราวความเจ็บปวดและการต่อสู้เพื่อการมีอิสรภาพของผู้คน ผ่านงานจิตรกรรมสีจัดจ้านที่มีเนื้อหากรีดใจ สื่อสารถึงความรักความผูกพัน และการพลัดพรากที่แสนเศร้าของสมาชิกในครอบครัวจากพิษภัยการสู้รบ

ก็เลยได้คำตอบกับตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งนักวิเคราะห์ว่า บางที… ผู้คนของเขาอาจจะผ่านช่วงเวลาที่เลวร้ายมา จนเข้าใจได้กระจ่างแจ้งว่า ชีวิตคนเรานั้นแสนสั้น และความสุขที่แท้จริงคืออะไร

ในขณะที่อีกหลายคนอาจยังค้นไม่พบ… ยังไม่เข้าใจ

วีร์วิศ / 20190605
www.V-Vis.com

 

Nemiranda​ Art Exhibition By Nemi R. Miranda Jr.

Nemiranda​ Art Exhibition
By Nemi R. Miranda Jr.

 

หมายเหตุ: ภาพประกอบ เป็นภาพถ่าย ผลงานจิตรกรรมของศิลปินชื่อดังชาวฟิลิปปินส์ Nemesio “Nemi” R. Miranda Jr. ซึ่งจัดแสดงในโถงนิทรรศการของโรงแรม Conrad Manila 

ประวัติศิลปิน  Nemi R. Miranda Jr.

Nemesio “Nemi” R. Miranda Jr. (born 1949), also known as Nemiranda, is a famous painter and sculptor in Angono, Rizal. He gained fame as the forerunner the art form “Imaginative Figurism”. He has a degree in Bachelor of Fine Arts from University of Santo Tomas, Manila, Philippines. He is the father of modern artist Keiye Miranda

Nemiranda launched over 50 solo exhibitions in various parts of the world. He is the founder of the Angono Ateliers Association in 1975, and the promoter of Higantes Festival in Angono. He institutionalized the Nemiranda Family Art Museum, Angono School for the Arts, and the Nemiranda Art Café. He also served as the Chairman of the Angono Tourism Council

Related posts:

You may also like...