Lifetime Learning รศ. ดร. สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์

Large 01

รศ.ดร. สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ กับการเรียนรู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุด

ถ้าเอ่ยชื่อนักวิชาการระดับแถวหน้าของเมืองไทย ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นอัจฉริยบุคคลผู้มีผลงานโดดเด่นในหลากหลายแวดวง ย่อมจะมีชื่อของ รศ.ดร. สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ อยู่ในลำดับแรกๆ เพราะท่านเป็นผู้รู้ลึกรู้จริงด้านเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ระดับสากล ที่การันตีด้วยปริญญาตรี โท เอก สาขารัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำของสเปนและฝรั่งเศส เพียบพร้อมด้วยความรู้ด้านภาษาศาสตร์ระดับผู้เชี่ยวชาญ ทั้ง ภาษาสเปน ฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาเลียน และโปรตุเกส บวกกับวิสัยทัศน์ที่เฉียบขาดในการเข้าสู่ตลาดทุนตั้งแต่ยุคเริ่มต้น ความสำเร็จและชื่อเสียงของท่านนับตั้งแต่ปีแรกที่กลับมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จนถึงวัยเกษียณ จึงเป็นที่เลื่องลือทั้งในบทบาทนักวิชาการ นักบริหาร ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เรื่อยไปจนถึงที่ปรึกษาของรัฐบาล และที่ปรึกษาหน่วยงานสำคัญระดับโลก

“ผมวางแผนชีวิตไว้ตั้งแต่อายุ 14-15 ว่าจะเป็น Henry Kissinger ของเมืองไทย เป็นอาจารย์ผู้ชำนาญเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ ด้านเศรษฐกิจ การเมือง โดยเลือกที่จะเชี่ยวชาญด้านยุโรป และหวังผลว่าจะเป็นเบอร์หนึ่งของประเทศไทยในด้านนี้ ผมเลือกที่จะใช้การเรียนอักษรศาสตร์เป็นเส้นทางไปสู่การได้ทุนอาจารย์ไปเรียนต่อต่างประเทศ ผมเลือกไปที่สเปน เริ่มเรียน ตรี โท เอกใหม่ทั้งหมด ทางด้านรัฐศาสตร์ สาขาการเมืองการปกครองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ต้องเรียนภาษาสเปนตั้งแต่เริ่มต้น หลังจากนั้นก็ได้ทุนไปต่อเศรษฐศาสตร์ด้านการรวมกลุ่มเพื่อเป็นประชาคมทางเศรษฐกิจ  ผมจึงรู้เรื่องเกี่ยวกับ EU และเรื่อง ASEAN เป็นอย่างดี

“ผมใช้ชีวิตการศึกษาอยู่ในยุโรปทั้งสเปนและฝรั่งเศสเป็นระยะเวลาทั้งหมด 14 ปี กลับมาประเทศไทยตอนอายุ 36 ปี พร้อมปริญญา ตรี โท เอก ด้านรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและเศรษฐศาสตร์ ผมได้ทั้งภาษาสเปนภาษาฝรั่งเศส และเนื่องจากผมทำเรื่องประชาคมยุโรป เพราะต้องการเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านยุโรป ก็เลยเรียนภาษาอิตาเลียนกับภาษาโปรตุเกสด้วยตัวเอง

“เมื่อกลับมาประเทศไทย ผมเป็นอาจารย์ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สอนที่นั่นเรื่อยมาจนถึงเกษียณ โดยก่อนที่ผมจะกลับมาได้ไปศึกษาวิธีการเข้ามาสู่ CORPORATE เพราะไม่อยากเป็นนักวิชาการสายอาจารย์เพียงอย่างเดียว โดยวิธีการเข้าสู่ CORPORATE ก็คือการเข้าสู่ตลาดหุ้น ช่วงอยู่ฝรั่งเศสผมอ่านหนังสือเกี่ยวกับตลาดหุ้น ตอนที่ผมกลับมาเมืองไทยในระยะแรกนั้น คนยังไม่รู้จักและไม่เห็นความสำคัญของตลาดทุน แต่ผมมองว่า ตลาดหุ้นจะเป็นองค์กรที่สำคัญมาก ก็รีบเข้ามาช่วงชิงโอกาสก่อนที่คนอื่นๆจะเข้ามา เพราะถ้าคนเข้ามากันเยอะๆ เราย่อมไม่มีโอกาสที่จะดัง ผมก็เป็นอาจารย์สอนอยู่หลายคณะ ทั้งด้านการเมืองการปกครอง รัฐธรรมนูญของยุโรป ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สอนเรื่องการเงินจากเรื่องหุ้น สอนเรื่องการบริหารเชิงกลยุทธ์ โดยสอนประจำที่ธรรมศาสตร์ และเป็นอาจารย์พิเศษให้กับหลายสถาบัน เช่น จุฬา นิด้า ม.ศ.ว. พอหลังเกษียณผมกลับไม่ได้เกษียณ ผมเป็น Visiting Professor ไปสอนในลาตินอเมริกา ที่ประเทศเม็กซิโก

“ในด้านการเมือง ผมได้เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และเป็นวุฒิสมาชิก เคยเป็นคณะกรรมการร่างกฎหมายเลือกตั้ง เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการต่างประเทศ เศรษฐกิจ หลายชุด แต่ผมมีเป้าหมายว่าจะไม่เล่นการเมือง ผมตั้งใจจะเป็นนักวิชาการชั่วชีวิต ผมได้ทำงานเป็นนักพูด ได้ไปบรรยายในต่างประเทศ เคยได้เป็นตัวแทนประเทศไทยทำหน้าที่กรรมการร่างแผนยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศในเอเชียกับลาตินอเมริกา ได้มีโอกาสไปเยือนลาตินอเมริกาหลายประเทศ เป็นวิทยากรบรรยายให้กับองค์กรต่างๆ รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศ เป็นที่ปรึกษาองค์การสหประชาชาติ เป็นที่ปรึกษาตลาดหลักทรัพย์ ในมหาวิทยาลัยก็ได้เป็นรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นผู้อำนวยการสถาบันภาษา

“ในการทำงานสายบริหาร ผมใช้องค์ความรู้เรื่องการบริหารเชิงกลยุทธ์ แม้ความจริงผมไม่ได้มีความสนใจในตำแหน่งบริหาร ผมสนใจงานวิชาการเป็นหลัก เช่นเดียวกันกับการที่ผมเข้าไปทำงานเป็นที่ปรึกษาให้กับภาคเอกชน ก็เพื่อเป็นช่องทางในการแสวงหาความรู้ และเพื่อปรับใช้ความรู้ทางวิชาการมาผสมผสานเข้ากับการบริหาร

“ปัจจุบันผมเกษียณจากงานราชการมา 12 ปีแล้ว แต่ยังทำงานไม่มีวันหยุด ผมทำงานวันละ 9 ชั่วโมง สามารถอ่านหนังสือและทำงานระหว่างเดินทางอยู่ในรถได้วันละ 3-4 ชั่วโมง ใช้ชีวิตไปกับการติดตามข่าวสาร ทำงานที่เรารักตลอดเวลา ไม่ว่าอยู่ที่ไหนผมก็หาความรู้ อ่านหนังสือได้ จะนั่งอยู่ที่บ้าน หรือในร้านกาแฟผมก็นั่งอ่านหนังสือ เท่านั้นยังไม่พอครับ ผมกำลังเรียนภาษาเพิ่มเติมด้วยตัวเอง คือภาษาเยอรมัน ภาษาจีน และภาษาบาฮาซาร์

“ผมติดตามข่าวสารต่างประเทศในแต่ละวันอย่างใกล้ชิด โลกทุกวันนี้มหัศจรรย์มาก ผมสามารถอ่านหนังสือพิมพ์ของประเทศต่างๆผ่าน Kindle ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์สเปน ฝรั่งเศส หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์ หนังสือพิมพ์ทางด้านวิชาการต่างๆซึ่งในเมืองไทยไม่มีขาย ผมเข้าเว็บไซต์ myNews Pro สามารถอ่านข่าวได้จากทั่วโลก ติดตามเรื่องของประเทศเวเนซุเอลา ซึ่งคนอื่นๆแทบไม่รู้เรื่องเลย การเข้าถึงข่าวสารผ่านช่องทางพวกนี้ ทำให้ความได้เปรียบทางการแข่งขันยุคนี้ผมกินเรียบ เพราะผมรู้ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน อย่างเรื่อง EU รัฐธรรมนูญของประเทศต่างๆอยู่ในสมองผมทั้งหมดไม่ว่ากี่ฉบับ

“เวลาเดียวที่ผมไม่ได้เรียนรู้หรือไม่ทำงานคือวันเสาร์อาทิตย์ที่จะมี Family Dinner ซึ่งลูกๆของผมจะมาจอยกัน นอกนั้นผมจะทำงาน อ่านหนังสือตลอด ถ้าไม่อ่านหนังสือก็จะประชุม เหตุผลที่ผมจดจำสิ่งต่างๆ ได้แม่นเพราะผมเรียนรู้ทุกวัน อยู่ในรถผมก็ท่องศัพท์ เวลาอ่านเรื่องต่างๆผมก็จะทำบันทึกเป็นโน้ตย่อ การจดโน้ตย่อจะทำให้จดจำได้ดี

“คนที่จะมี Lifetime Learning ต้องเป็นคนที่ได้ทำในสิ่งที่รัก ค้นคว้าในสิ่งที่สนใจ ทำไปไม่หยุดจนเกิดเป็นความชำนาญ ทำแล้วมีความสุข ค้นพบตัวเองเจอ คนที่ประสบความสำเร็จจะเป็นคนที่มี Passion ซึ่งความฉลาดนั้นยังเป็นรอง Passion เพราะคนที่มีความรักในสิ่งใดก็จะทำสิ่งนั้นไปเรื่อยๆไม่หยุด หัวใจสำคัญของการศึกษาก็คือการรู้จัก Passion ทุกวันนี้ผมเองยังท่องศัพท์ภาษาอังกฤษอยู่เลย ทั้งที่เป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษมาสี่สิบกว่าปี มันก็ยังมีศัพท์ใหม่ มีเรื่องราวใหม่ๆ ให้เรียนรู้ แม้แต่ขณะนั่งรถไปเที่ยวร่วมทางกับเพื่อนๆ คนอื่นเขาคุยอะไรกันไปผมก็ยังสามารถทำงานอ่านหนังสือของผมไปได้

“ถ้าเราอยากให้เด็กฉลาด หนึ่งต้องให้อ่านหนังสือเยอะๆ สองต้องให้มีส่วนร่วมตั้งแต่แรก สามให้เด็กรู้ว่า ไม่มีใครในโลกนี้เป็นคนโง่ อย่าไปดูถูกคนอื่น เข้าใจในความแตกต่าง”

“พ่อแม่มีความสำคัญมาก ผมเองก็มาจากสิ่งแวดล้อมที่ต่างกัน ส่วนหนึ่งผมอาจจะได้มาจากพ่อแม่ อีกส่วนหนึ่งมาจากการที่ผมเป็นคนอ่อนไหว ผมเองเป็นลูกคนเดียว พ่อแม่จะล้มละลาย ผมรู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิต เกิดคำถามว่า โตขึ้นมาเราจะเป็นอย่างไร ตอนเด็กๆผมอยู่คนเดียวเป็นส่วนมาก เวลาอยู่คนเดียวก็มีเวลาอ่านหนังสือ สมัยแรกๆ ก็อ่าน พล นิกร กิมหงวน พอโตขึ้นมาอีกหน่อยก็เริ่มอ่านชีวประวัติบุคคลสำคัญ ตอนอ่านหนังสือได้รู้จักชื่อ ดร.วิทย์ ศิวะศริยานนท์ ผู้แปลหนังสือ มาดามโบวารี สมัยนั้นผมก็คิดว่าถ้าจะช่วยพ่อแม่ได้ต้องจบด็อกเตอร์

“ผมชอบคำนวณ ก็มีอาจารย์ท่านหนึ่งเป็นแรงบันดาลใจ ตอนนั้นผมเรียนได้ที่ 5-6 ของชั้น ช่วงม.4 มีการเรียนเรขาคณิต อาจารย์เรียกผมให้มาพิสูจน์เส้นตรง โดยที่อาจารย์ยังไม่ได้สอน ผมอ่านหนังสือมาก็เลยพิสูจน์ได้ อาจารย์บอกว่า คุณนี่น่าจะได้ที่หนึ่ง ตอนนั้นผมเกิดความรู้สึกว่า…มันทำได้ พอทำได้ก็เริ่มมี Passion ยิ่งไปอ่านหนังสือเพิ่มขึ้น เป็นครั้งแรกที่ทำให้ผมรู้ว่า ความฉลาดของคนเรานั้นอยู่กับทุกคน เพียงแต่บางคนโชคดี มีคนมาให้กำลังใจ บางคนโชคร้ายไม่มี พอเป็นแบบนี้ผมก็เริ่มเร่ง จากคนที่ห้ามาเป็นคนได้ที่หนึ่ง และหลังจากนั้นก็ทิ้งห่างจากคนได้ที่สองตลอดกาล เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ผมคิดว่า ไม่มีใครโง่ในโลกนี้ เพียงแต่คนต้องรู้จักตัวเอง”

“ปัจจุบันมีโรงเรียนไทยหลายแห่งเริ่มปรับรูปแบบการศึกษา โดยเขาเปลี่ยนการเรียนรู้ที่ไม่ได้เป็นการแข่งขันให้ได้เกรด ABCD เหมือนแต่ก่อน แต่เค้าเน้นให้เด็กรู้จักตัวเอง จะไม่มีการเอาเด็กที่ต่างกันมาแข่งเปรียบเทียบในเรื่องเดียวกัน โดยให้เด็กเลือกเอาหนังสือไปอ่านแล้วนำมาพรีเซนต์ การเรียนแบบนี้ทำให้เกิดความแตกต่าง เด็กพวกนี้จะรู้จักเรียนย่อความ

“ประเทศไทยเราจะมีปัญหาเรื่องการจับประเด็นไม่เป็น ในขณะที่การศึกษาแนวใหม่จะเริ่มให้ใช้สมอง จากเดิมที่สอนให้ใช้แค่ตากับหู ยกตัวอย่างเช่น การตั้งคำถามเด็กว่า ผลไม้อะไรไม่มีเม็ด เด็กจะไปถามพ่อแม่ หรือเด็กก็จะตอบตามเฉพาะที่เคยเห็นและจำได้เท่านั้น แต่เด็กจะคิดไม่เป็น จับประเด็นไม่ได้ วิเคราะห์ไม่ได้ ตรงกันข้ามกับการให้เด็กเอาหนังสือไปอ่านแล้วจับประเด็น เมื่อเด็กรู้จักจับประเด็นในสิ่งที่อ่านได้ก็จะสามารถนำมาเชื่อมโยงกับเรื่องที่ตัวเองชอบได้ สามารถคิดต่อยอด วิเคราะห์ได้ เด็กอาจจะบอกว่า เขาไม่เห็นด้วย วิธีการแบบนี้เป็นการศึกษาที่มี Interaction เพราะความรู้นั้นเป็น Collective ไม่ใช่แค่คนใดคนหนึ่ง และอาจารย์ก็จะฉลาดมากขึ้นเพราะจะได้เรียนรู้จากเด็ก

“การเรียนมีหลายมุม คนเรียนก็จะเห็นได้ว่า การที่จะชนะหรือไม่ชนะไม่ใช่เรื่องสำคัญ ขอแค่ให้มีความรู้ และเด็กจะไม่หลงเชื่ออะไรง่ายๆ ซึ่งต่างจากเด็กไทยเราที่มักเชื่ออะไรง่ายๆ คิดอะไรไม่เป็น สมมุติอาจารย์บอกว่า คนรวยไม่โกง … โกงทำไมถ้ารวยแล้ว เด็กก็มักจะเชื่อ แต่ถ้าเป็นเด็กฝรั่ง เขาจะคิดต่อว่า ถ้าข้อมูลนี้เป็นจริง ต้องมีสหสัมพันธ์ คนรวยทุกคนต้องไม่โกง แต่เมื่อมีบางคนโกง แสดงว่า คำพูดนี้เป็นคำพูดที่ผิด การสอนให้คนรู้จักคิดวิเคราะห์ได้ และเชื่อว่าตัวเองสามารถหาความรู้เองได้ กล้ามองต่างมุม ประเทศก็ฉลาด เพราะมีหลายมุมช่วยกันคิด ส่วนมุมที่พลาดก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น การวิเคราะห์ถกเถียงกันเรื่องโลกกลมโลกแบน จากในอดีตที่คนเชื่อว่าโลกแบน การคิดโต้แย้งถกเถียงก็ทำให้เกิดข้อมูลใหม่ว่า โลกกลม เหล่านี้คือประวัติศาสตร์ของความรู้ ซึ่งน่าเสียดายที่เมืองไทยเราไม่มีการบันทึกประวัติศาสตร์ของความรู้ เช่นเดียวกับเมืองจีนก็ไม่มี ในขณะที่โลกตะวันตกมีบันทึกการเปลี่ยนแปลงของศาสตร์ต่างๆตลอดเวลา

“อารยธรรมตะวันตกได้รับอิทธิพลมาจากกรีก ที่เราเรียกยุคเรอเนสซองส์ ในช่วงศตวรรษที่ 16 นั้นถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่สุด เป็นช่วงที่คนกลับไปเรียนรู้เรื่องความเก่งของมนุษย์ เรื่องเสรีภาพ เพราะฉะนั้นจะสอนให้แต่ละคนมีความขยัน ความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆของคนเกิดจากความมุ่งมั่นศึกษาในเรื่องนั้นเรื่องนี้อย่างจริงจัง ไม่ได้มุ่งสนใจเรื่องเงินทอง คุณดูตัวอย่างนี้ได้จากประวัติของ มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก ที่เห็นในหนังเขาเรียนอยู่ฮาวาร์ด แล้วหันมาสนใจคิดค้นเฟซบุ๊ค ทำด้วยความรัก ทุ่มเท ไม่สนใจอย่างอื่น ถึงขนาดโดนแฟนทิ้ง

“ยุคเรอเนสซองส์คือยุคที่สอนฝรั่งให้เรียนด้วยตัวเอง เรอเนสซองส์คือการกลับไปสู่กรีก เพราะกรีกนั้นเชื่อว่มนุษย์เป็นศูนย์กลางจักรวาล เรียกว่าเป็น Humanism เมื่อมนุษย์ฉลาดมีความสามารถ โลกตะวันตกก็มีสิทธิเสรีภาพ นำไปสู่การแตกแยกศาสนาคริสต์ออกมาเป็นนิกายโรมันคาทอลิกกับโปรเตสแตนต์ โดยระบบคิดแบบโปรเตสแตนต์จะฉลาดกว่าเพราะมีการคิดนอกกรอบ เมื่อวิธีคิดเริ่มฉลาดแบบนี้ ธุรกิจก็มาอยู่ในมือของคนฉลาด ก็นำมาสู่แนวคิดเศรษฐศาสตร์ มือที่มองไม่เห็น ของ  อาดัม สมิธ ซึ่งบอกว่า เมื่อมนุษย์มีความฉลาด รัฐบาลมีหน้าที่เพียงให้สิทธิเสรีภาพ นำไปสู่การปฏิวัติครั้งสำคัญในปี 1789

“ความยิ่งใหญ่ของยุคเรอเนสซองส์ นำไปสู่การขยายตัวของทุนนิยม นำไปสู่ประชาธิปไตยเสรีนิยม เป็นเหตุผลว่า หลังจากยุคนั้นฝรั่งจึงครองโลก เพราะการปล่อยให้คนฉลาดและนำไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรม มีการสร้างปืน ในขณะที่จีนยังใช้กำลังภายใน ก็แพ้ฝรั่ง การพัฒนาของฝรั่ง Second Wave เป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรม Third Wave เป็นเรื่องดิจิตอล ตั้งแต่ยุคคลื่นลูกที่สองถึงสาม อารยธรรมตะวันตกครองโลก มีเพียงยุคแรกเท่านั้นที่จีนยังพอสู้ได้เพราะยังเป็นเกษตร

“สำหรับไทยเรา ขณะนี้ยังไม่สามารถเข้าสู่โลกาภิวัตน์ได้ เพราะข้อมูลข่าวสารส่วนใหญ่ยังอยู่ในลักษณะ JUNK โลกกำลังต้องการความรู้ แต่การศึกษาบ้านเราส่วนใหญ่ยังอยู่ในลักษณะที่ต้องการได้ปริญญา อยากได้โน่นได้นี่ ไม่ได้สอนให้คนส่วนใหญ่ได้ความรู้ มีเพียงคนกลุ่มเล็กๆ ที่ได้ประโยชน์ เพราะสามารถเข้าถึงความรู้ได้เต็มที่ เช่นคนอย่างผม ซึ่งความจริงคนในโลกก็แบ่งเป็นสองกลุ่มอย่างนี้อยู่แล้ว เพียงแต่ช่องว่างระหว่างคนสองกลุ่มในโลกตะวันตกมันไม่ห่างมากเหมือนในบ้านเรา ทั้งนี้หลายคนเชื่อว่า มีเดียจะทำให้เราฉลาดขึ้น…ไม่จริงนะครับ เพราะมีเดียนั้นทำให้เกิด Fake news ได้ ถ้าการศึกษาเราวิเคราะห์ไม่เก่ง ข่าวไหนที่ออกมา คนก็พร้อมเชื่อตามนั้นเลย มีเดีย ณ วันนี้จึงอันตรายมาก

“ปัญหาของคนที่เป็นอัจฉริยะในเมืองไทยคือคุณจะเครียดมาก พอทำอะไรผิดนิดหน่อยคนก็จะชอบดูถูก บรรยากาศสังคมแบบนี้มันไม่สร้างสรรค์ ทั้งที่ความจริงแล้วคนไทยเราฉลาดทุกคน เพียงแต่ระบบการศึกษาไทยทำให้พวกเราบางคนไม่อยู่ในฐานะนั้น ผมโชคดีที่ในวัยเด็กมีความรู้สึก Insecure บวกกับความต้องการเป็นที่หนึ่ง สองอย่างนี้ทำให้ผมต้องหาเส้นทาง เพราะหน้าตาผมก็ไม่หล่อ ถ้าเป็นคนหล่ออาจมีเมียสวยรวย เราไม่มีสักอย่าง พ่อแม่เราก็ตึ่งนั้ง (ยิ้ม) แฟนผมเค้าบอกว่า เวลาที่พระเจ้าปิดประตู ก็จะยังมีหน้าต่างให้เปิด เป็นคำพูดที่ผมชอบมาก ไม่มีใครจนมุม หน้าต่างของผมคือขอให้เรียนเก่ง พอเรียนเก่งแล้วจะสำเร็จได้ โดยที่เราไม่ต้องเก่งทุกอย่าง แค่เก่งในสองสิ่งที่คนกลัว คือ คำนวณกับภาษา ผมแค่เร่งให้เก่งสองตัวนี้ก็พอแล้ว พอโดมาก็รู้เลยว่า สองตัวนี้สำคัญที่สุด”

“ปัจจุบันผมเป็นคนอายุเจ็ดสิบสองที่ทำงานทุกวัน ถ้ามีเวลาว่างผมจะว่ายน้ำวันละ 1 ชั่วโมง ถ้าให้พูดถึงโครงสร้างประชากรในประเทศที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ผมมองว่า ในอนาคต โรบอทจะเข้ามามีบทบาทมาก โรบอทของฝรั่งจะมองเหมือนเป็นผี คือไม่มีวิญญาณ ในขณะที่โรบอทตามมุมมองของญี่ปุ่นตามแนวคิดของลัทธิชินโต จะเห็นว่าทุกอย่างนั้นมีจิตวิญญาณ คนญี่ปุ่นเขาจึงมองโรบอทเป็นลักษณะของผู้ร่วมชีวิต (companion) เราจะเห็นได้ว่า โรบอทของญี่ปุ่นจะมีลักษณะน่ารัก เข้ามาทำหน้าที่ช่วยเหลือ นอกจากนี้ คนแก่ในอนาคตจะยิ่งมีอายุยืนยาว ถ้าคนอยู่ถึงร้อยกว่าปี ปัญหาในเรื่องสวัสดิการก็จะตามมา ช่วงอายุในการเกษียณก็จะต้องปรับเปลี่ยน สิ่งต่างๆจะเข้าสู่ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ อย่างประเทศญี่ปุ่นตอนนี้ก็กำลังสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน เพราะตอนนี้คนแก่มีสัดส่วนเยอะมาก รัฐบาลก็ต้องรับมือกับปัญหา ส่วนในแง่บวกของสังคมผู้สูงอายุก็พอมีคือ แรงงานจะเพิ่มขึ้นจากความความสามารถและอายุการทำงานของคนที่ยาวขึ้น การที่คนแก่ช้าลงก็ทำให้อยู่ในระบบงานได้นานขึ้น ถ้าสามารถปรับความสามารถในการแข่งขัน ก็จะอยู่รอดได้”

“ส่วนสำคัญในความสำเร็จทุกวันนี้ของผมได้มาจากการเรียนอักษรศาสตร์ โดยเฉพาะเรื่องการละคร เวลาผมทำพรีเซนเทชั่นเรื่องเศรษฐกิจการเมือง ผมใช้การละครเป็นตัวตั้ง ศาสตร์ด้านการละครเป็นประโยชน์มาก ยกตัวอย่าง โศกนาฏกรรมกรีกในเชคสเปียร์ จะประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ อย่างแรกคือชาติกำเนิดที่สูงส่ง สองคือความเลว ซึ่งเป็นองค์ประกอบของมนุษย์ทุกคนที่เป็นผลมาจากความเป็นสัตว์ในตัวเรา องค์ประกอบที่ว่านี้ดูได้จากเด็ก เด็กที่เกิดมายังไม่ได้รับการสั่งสอน จะทำลายทุกอย่างที่ขวางหน้า จนกระทั่งมีการสั่งสอน เปลี่ยนจากสัตว์มาเป็นสัตว์ประเสริฐ ความเป็นสัตว์ของคนเราคือความร้าย ความเห็นแก่ตัว เป็นจุดอ่อนที่ต้องคำนึงถึงและขจัด ถ้าไม่ขจัดหรือแก้ไข จะนำไปสู่องค์ประกอบที่สามคือความฉิบหาย และคนดูละครก็เข้าสู่องค์ประกอบที่สี่คือการเรียนรู้ ว่าคนเราจะยิ่งใหญ่แค่ไหน ถ้าไม่แก้ความเลวร้าย ก็จะพบกับจุดจบ

“ตัวละครที่เราเห็นได้ชัดที่สุดคือ แฮมเล็ต ผู้มีข้อเสียคือการเป็นคนตัดสินใจไม่แน่นอน เมื่อไม่แก้ข้อเสียนี้ ภายหลังก็ต้องตายเพราะข้อเสียของตนเองที่ตัดสินใจไม่เด็ดขาด องค์ประกอบสำคัญของการละครก็นำมาวิเคราะห์ใช้ได้กับความจริงมากมายในสังคมทุกวันนี้ เช่น คนที่โกงมาก หากทำไปไม่หยุด ถึงจุดหนึ่งก็จะมีปัญหา

“การละครที่มาจากกรีกสอนให้เรารู้ว่า ชีวิตคนมันมีขั้นตอนแบบนี้ ใครมีจุดอ่อน ต้องแก้ อย่าให้มันลามไปสู่ความพินาศ นี่คือประโยชน์ของการละคร หนึ่งสอนให้เราเรียนรู้ สองการละครยังสอนให้เรากล้าแสดงออก ทำให้เรารู้จักตัวเอง สามการละครสอนให้เรารู้จักวิธีการนำเสนอสื่อสารกับผู้ชม รู้จังหวะจะโคนในการพูด ไม่ว่าจะเป็นการสอนในห้องเรียน การพรีเซนต์ธุรกิจ และการเมือง รู้ว่าจะเริ่มหรือจบอย่างไร สร้างไคลแมกซ์อย่างไร ไม่ใช่แค่การพูดแต่ยังไปใช้เขียนหนังสือด้วย”

“แต่มนุษย์ก็คือมนุษย์ ผมก็ต้องมีความทุกข์บ้าง ถ้าไปดูประวัติผมช่วงปี 93-94 ช่วงนั้นผมเป็นวุฒิสมาชิก เป็นที่ปรึกษานายกฯ มีคนชวนเล่นการเมืองเยอะ ตอนนั้นเงินเยอะ ชื่อเสียงก็เยอะ มีความทุกข์ครับ เกิดความรู้สึกเครียดขึ้นมา ตอนนั้นผมนึกว่าตัวเองเจ็บป่วยไม่สบาย แต่จริงๆไม่ใช่ ทุกอย่างเกิดจากความเครียด วันนั้นผมตระหนักทันที ทุกอย่างจบ !! จะมีเงินไปเพื่ออะไร มีตำแหน่งไปเพื่ออะไร ผมได้คำตอบว่า ความสุขในชีวิตของผมจริงๆคือการได้เป็นตัวเอง ผมต้องสู้กับความเครียด 5-6 เดือน ก็เลยอ่านหนังสือเยอะมาก ทำให้ได้รู้เลยครับว่า สาระของชีวิตคืออะไร ความรวยหรือจนไม่ใช่เรื่องสำคัญ สิ่งที่สำคัญคือความสุข โดยเฉพาะครอบครัว คือเครื่องมืออันวิเศษ ซึ่งหลายคนยังไม่รู้ครับ ว่าเวลาเราทุกข์ คนที่อยู่กับคุณตลอดกาลคือเมียกับลูก ครอบครัวเป็นหลักประกันในชีวิต เป็นคนที่คอยอยู่ใกล้ชิด เวลาที่มีความสุข ก็จะมีคนมาร่วมแบ่งปันความสุขด้วย”

“ความโชคดีที่สุดในชีวิตผม คือการได้มีครอบครัวที่ดี อย่างที่สองคือการได้อยู่กับงานที่ผมรัก ผมจึงทุ่มเวลาอ่านหนังสือวันละเก้าชั่วโมง และยิ่งทำก็ยิ่งทำให้ผมมีความสุข ผมได้ติดตามข่าวสารต่างๆอย่างใกล้ชิด ได้เรียนรู้ตลอดเวลา ทุกอย่างเรียนเองได้

“สิ่งสำคัญในชีวิตไม่ว่าคุณจะรวยหรือจน ความหมายที่แท้จริงของคำว่า ประสบความสำเร็จ คือคุณบรรลุความสุขในชีวิต คือการไม่เบียดเบียนใคร ไม่คดโกง หนึ่งตัวคุณบรรลุความสุข สองครอบครัวมีความสุข อย่าไปคุยว่าทำเพื่อสังคม บางคนบอกว่าตัวเองทำเพื่อสังคม การเมือง แต่ครอบครัวคุณยังไม่มีความสุข เอาการดูแลความสุขของคนใกล้ชิดที่สุดให้ได้นั่นแหละเป็นการพิสูจน์ตัวเองก่อน แล้วจากนั้นค่อยไปสู่การดูแลสังคม”

จากเรื่องราวความสำเร็จที่ท่านแบ่งปัน และไลฟ์สไตล์ที่น่าทึ่งของอัจฉริยบุคคลอย่าง รศ.ดร. สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ บอกให้เรารู้ว่า เงื่อนไขชีวิตที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงไม่ว่าสิ่งแวดล้อม วัย หรือสถานภาพทางสังคมของท่านจะเปลี่ยนไปอย่างไร คือความเป็นผู้ใฝ่เรียนใฝ่รู้อยู่ทุกขณะจิต และมีความสุขกับการทำงานที่รักอย่างต่อเนื่อง อัจฉริยภาพด้านภาษากับการเปิดกว้างของเทคโนโลยีข่าวสารข้อมูล ทำให้ท่านสามารถดำรงไว้ซึ่งสถานะบุคคลระดับมันสมองผู้มีคุณูปการต่อประเทศชาติ ที่มิได้ปราดเปรื่องแค่เรื่องวิชาการ แต่ยังเป็นผู้ฉลาดเลือกในการใช้ชีวิตได้อย่างอิ่มเอมคุ้มค่าทุกนาทีในวีถีนักปราชญ์ร่วมสมัย เป็นแสงเทียนส่องนำสังคมไทยไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืน

 

Associate Professor Dr. Somjai Phakaphasvivat

Associate Professor Dr. Somjai Phakaphasvivat is a high profile political economist academic. He is a visionary political scientist who specializes in geopolitical. He has played a prominent role in the international geopolitical, economics and monetary consulting for both public and private sector. While serving as a professor in Thammasat University, he was a Vice Rector for Planning and Development and a Director of Language Institute. Associate Professor Dr. Somjai Phakaphasvivat was a consultant to the Stock Exchange of Thailand, ESCAP Economic and Social Adviser, United Nations and an eminent person of Vision Group for FEALAC’s strategic planning. In politics, Associate Professor Dr. Somjai Phakaphasvivat served as a senator, a consultant to the Prime Minister, a Election Law Drafting Commitee and a consultant to the International Affairs and Economics Committee. At the age of 72, he currently works passionately as an influential Independent Academic and provides consulting for leading organizations.

ที่มา: วารสาร Supalai @ Home / Q4-2018

Related posts:

You may also like...