วิธีสู้เงินเฟ้อ

coins-1015125_1920

ในยุคข้าวยากหมากแพง คำว่า “เงินเฟ้อ” เป็นสิ่งที่เราได้ยินกันแทบทุกวัน ไม่ว่าใครก็ไม่อยากประสบกับภาวะเงินขาดมือหรือชักหน้าไม่ถึงหลัง เพราะการมีรายรับเท่าเดิมแต่รายจ่ายเพิ่มขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อนั้นไม่เพียงแต่สร้างปัญหาในการดำรงชีวิต แต่ยังทำให้เกิดความเครียด ส่งผลเสียทั้งต่อสุขภาพร่างกาย สุขภาพจิต และเป็นบ่อเกิดของปัญหาสังคมมากมาย ความหมายที่เข้าใจง่ายที่สุดของเงินเฟ้อ คือ เงินมีค่าน้อยลง ข้าวของแพงขึ้น วิธีรับมือกับปัญหา​เงินเฟ้อแบบตรงไปตรงมาที่สุด ไม่ว่าจะเป็นสำหรับภาคธุรกิจหรือภาคครัวเรือน คือ การหาเงินให้ได้มากขึ้น และใช้จ่ายให้น้อยลง

การหาเงินให้ได้มากขึ้น

มีหลายวิธี สามารถเรียกรวมๆ ได้ว่า การลงทุน ได้แก่

  1. ลงทุนด้วยแรง (แรงงาน สมอง ความรู้) ก็คือ ต้องทำงานหารายได้ให้มากขึ้น เช่น หางานพิเศษทำ  ทำงานมากกว่าหนึ่งอาชีพ หรือหางานใหม่ที่มีค่าตอบแทนที่สูงขึ้นกว่าเดิม โดยพิจารณา​ตามความรู้ความสามารถ ความชอบ และโอกาสที่แต่ละคนมีแตกต่างกันไป และใช้เทคโนโลยีใหม่ๆเป็นเครื่องทุ่นแรง

  2. ลงทุนด้วยเงิน คือ ใช้เงินซื้อสินทรัพย์​ที่เพิ่มมูลค่าหรือมีผลตอบแทนสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ โดยหาจังหวะที่สินทรัพย์​เหล่านั้นมีราคาเหมาะสมกับการเข้าซื้อเพื่อลงทุน และขายทำกำไรเมื่อราคาปรับตัวสูงขึ้น หรือลงทุนในสินทรัพย์​ที่ให้ผลตอบแทนในอัตราที่สูงกว่าเงินเฟ้อ เช่น ทองคำ หุ้น อสังหาริมทรัพย์​ งานศิลปะ

  3. ลงทุนด้วยทรัพย์สินที่ไม่ใช่เงิน ด้วยการทำประโยชน์เพื่อสร้างรายได้หรือผลกำไรจากสิ่งของในครอบครอง ไม่ว่าจะเป็น บ้าน ที่ดิน รถ หรือสิ่งของต่างๆ ที่เป็นของเรา เช่น การขายหรือให้เช่า เสื้อผ้า ของใช้แบรนด์เนม ฯลฯ รวมถึงการนำสิ่งที่มีอยู่มาพัฒนา​ให้เป็นเงินเป็นทอง หรือเป็นผลตอบแทนในรูปแบบอื่นๆ เช่น พัฒนาพื้นที่ว่างในบ้านเป็นสวนครัว เพื่อใช้เก็บกิน

.

ไม่ว่าจะเลือกลงทุนด้วยวิธีใด การลงทุนก็มีความเสี่ยง ทุกการลงทุนจึงต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง เงินเฟ้อเป็นความเสี่ยงสำคัญสำหรับการลงทุนแทบทุกประเภท แม้แต่การลงทุนด้วยแรงงาน การตรากตรำทำงานให้หนักขึ้น ซึ่งดูเหมือนจะมีความเสี่ยงน้อยมากที่จะขาดทุน แต่หากพลาดพลั้งเสียสุขภาพ​ขึ้นมา จนเจ็บป่วยต้องเสียค่ารักษาพยาบาลต้องเสียเงินจำนวนมาก หรือเกิดความบาดเจ็บจนถึง​ขั้นทุพพลภาพ​ ก็ถือเป็นความเสียหายขั้นรุนแรงอย่างประเมินค่าไม่ได้

นักลงทุนระดับโลก Warren Buffett ได้ให้คำแนะนำที่น่าสนใจว่า สิ่งสำคัญที่ควรลงทุนในภาวะเงินเฟ้อและไม่มีวันขาดทุน คือการลงทุนกับตัวเอง ด้วยการศึกษาหาความรู้ที่เป็นประโยชน์ และพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ จะทำให้ตัวเราเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่า มีโอกาสในการสร้างรายได้และเพิ่มรายได้อย่างต่อเนื่อง

การลดรายจ่าย

แม้จะเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ง่ายนัก เพราะราคาสินค้าและบริการต่างๆถีบตัวสูงขึ้น แต่เราก็จำเป็นต้องทำให้ได้ ด้วยการตัดรายการค่าใช้จ่ายที่สามารถตัดได้หรือรายการที่ไม่จำเป็นออกไป ซึ่งวิธีลดรายจ่ายให้ได้ผลเป็นรูปธรรม ควรดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอน ดังนี้

  1. ทำงบดุลส่วนบุคคล เพื่อตรวจสอบสถานะ​ทางการเงินของตัวเอง หรือภาษาการเงินเรียกว่า ตรวจสอบสถานะความมั่งคั่งหรือ wealth  (ในกรณีที่​เรามีทรัพย์สิน​มากกว่าหนี้สิน และมีรายรับมากกว่ารายจ่าย)​  ซึ่งจะทำให้เรารู้ปริมาณ​ทรัพย์สิน​ หนี้สิน  รายรับ รายจ่าย ที่แท้จริงและสามารถจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่เราต้องใช้จ่าย และตัดรายการที่ไม่จำเป็น หรือฟุ่มเฟือยออกไปได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล

  2. ทำบัญชีรายรับรายจ่าย รายสัปดาห์ รายเดือน และรายปี ฟังดูเหมือนจะเป็นเรื่องยุ่งยาก แต่ในสมัยนี้มีตัวช่วยมากมายด้วยการใช้แอปพลิเคชั่นต่างๆ ที่มีให้ใช้ฟรี หรือใช้วิธีจดบันทึกแบบง่ายๆ แบ่งรายการให้ชัดว่า เงินเข้าออกแต่ละเดือนหรือแต่ละสัปดาห์เป็นเท่าไร ใช้จ่ายแล้วเหลือเงินเท่าไร และใช้จ่ายไปกับค่าอะไรบ้าง

  3. ปรับลดรายจ่าย โดยใช้ข้อมูลจากรายการค่าใช้จ่ายที่บันทึกไว้มาวิเคราะห์ว่า มีรายจ่ายส่วนใดที่ต้องตัดออกหรือทำให้น้อยลง เช่น หากในรายการค่าใช้จ่ายของเราคือการชำระหนี้เงินกู้ จากการผ่อนซื้อทรัพย์สิน เช่น ผ่อนบ้าน หรือผ่อนรถเพื่อใช้ในการทำงาน เราสามารถพิจารณาขอปรับโครงสร้างหนี้จากสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ให้ลดลงมาในอัตราที่เหมาะสมและผ่อนไหวได้ แต่ถ้าเรามีหนี้จากการใช้จ่ายบัตรเครดิตซึ่งมีดอกเบี้ยสูงมาก ก็ต้องหาทางปิดยอดหนี้ให้หมดเร็วที่สุด หรือเจรจาขอปรับโครงสร้างหนี้เพื่อลดภาระดอกเบี้ย และพยายามไม่สร้างหนี้

  4. ตัดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยออกให้หมด ค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยคือสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับความจำเป็น ซึ่งสิ่งจำเป็นพื้นฐานที่สุดของคนเราคือปัจจัย 4 ถ้าเรามีที่อยู่อาศัย มีข้าวกินครบทุกมื้อ มีเสื้อผ้าใส่เพียงพอ มียารักษาโรค ในระดับที่พออยู่ได้แล้ว ของอื่นๆที่นอกเหนือจากนี้ให้คิดว่าเป็นสิ่งฟุ่มเฟือย ในช่วงเวลาที่เงินไม่พอใช้ เราต้องแยกแยะให้ชัดเจนระหว่างรายจ่ายที่จำเป็นและรายจ่ายฟุ่มเฟือย เช่น การซื้อเสื้อผ้าตามแฟชั่น หรือการไปกินดื่มสังสรรค์กับเพื่อนหลังเลิกงาน แม้ว่าจะเป็นการซื้อความสุข แต่ถ้าเงินไม่พอใช้ ก็ควรเปลี่ยนมาหาความสุขให้ได้แบบไม่เสียเงินก่อน จนกว่าสถานการณ์เศรษฐกิจของเราจะดีขึ้นก็อาจจะกลับไปฟุ่มเฟือยได้บ้างตามอัตภาพ

  5. รายจ่ายในส่วนที่จำเป็นก็ต้องหาทางลดให้ได้มากที่สุด เช่น ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ช่วงที่น้ำมันแพงมากๆ หากสามารถเปลี่ยนมาใช้บริการขนส่งมวลชนที่ค่าใช้จ่ายน้อยกว่า หรือใช้ระบบคาร์พูลกับเพื่อนร่วมชุมชนได้ก็จะทำให้เหลือเงินในกระเป๋ามากขึ้น ลดค่าน้ำค่าไฟด้วยการประหยัดการใช้งาน ลดค่าใช้โทรศัพท์ด้วยการปรับลดแพคเกจการใช้งานที่ประหยัดมากขึ้น แม้แต่อาหารการกินประจำวันก็ควรกินอย่างมีสติมากขึ้น โดยเลือกกินของที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ราคาไม่แพง กินแต่พอดี และให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากขึ้นเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการเจ็บป่วยที่ทำให้ต้องเสียเงินมาก

.

สภาวะเงินเฟ้อเป็นสภาวะทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ซึ่งประชาชนอย่างเราทำได้มากที่สุดก็แค่ตั้งรับพยายามปรับตัวให้อยู่รอดผ่านไป แต่หากใครที่สามารถตั้งสติ พัฒนาความรู้ความสามารถ เตรียมตัวเองให้มีความพร้อม และพิจารณาหาลู่ทางที่จะเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส นอกจากจะผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้อย่างปลอดภัยแล้ว ยังอาจเป็นโอกาสในการสร้างธุรกิจใหม่ๆและสร้างความมั่งคั่งให้ตัวเองได้

 

Related posts:

You may also like...