Living Will หนังสือแสดงเจตนาเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลในวาระสุดท้ายของชีวิต

hand-229777_1920

ผู้คนในหลายวัฒนธรรมเชื่อว่า การเอ่ยถึงเรื่องความเจ็บความตายเป็นสิ่งที่ไม่เป็นมงคล บ้างก็เชื่อว่าจะเป็นเคราะห์ลางไม่ดีนำโชคร้ายมาให้ แต่ความจริงแล้ว เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นสภาวะของชีวิตที่ต้องเกิดขึ้นกับทุกคน ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้ คำกล่าวที่ว่า ‘คนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกตายได้’ กำลังกลายเป็นเรื่องจริง และมีกฎหมายรองรับอย่างถูกต้องในปัจจุบัน ระบบสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป วิถีชีวิตของผู้คนยุคใหม่ที่มีการพึ่งพาตัวเองมากขึ้น เป็นแรงกระตุ้นสำคัญที่ทำให้ผู้คนหันมาตระหนักถึงการดูแลตนเองในยามเจ็บป่วยไปจนถึงการเข้าสู่วาระสุดท้ายของชีวิต ซึ่งสิทธิและหน้าที่ในการตัดสินใจว่าจะดูแลรักษาผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้จนวาระสุดท้ายที่เป็นของคนใกล้ชิด หรือเครือญาติ ได้เปลี่ยนมาเป็นสิทธิและหน้าที่ของตัวบุคคลนั้นเอง ที่จะต้องตัดสินใจและวางแผนไว้ล่วงหน้า การทำ LIVING WILL หรือ หนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขในวาระสุดท้ายของชีวิต ซึ่งเป็นสิทธิของเราทุกคน จึงเป็นเรื่องที่คนรุ่นใหม่ควรให้ความสำคัญเปิดใจเรียนรู้

.

เมื่อปี พ.ศ. 2550 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ  กฎหมายฉบับนี้มิใช่เป็นเพียงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขเท่านั้น  แต่กฎหมายฉบับนี้เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนโดยทั่วไปด้วย เพราะได้นิยามความหมายของคำว่า “สุขภาพ” ในภาพกว้าง และเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมไทยก็คือ การทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือ Living Will หรือ Advance Directive  โดยในมาตรา 12 ของพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ได้บัญญัติไว้ว่า

“บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้

การดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้ว มิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง”

ความมุ่งหมายของบทบัญญัติดังกล่าว มุ่งที่จะรับรองสิทธิของผู้ป่วยที่จะตัดสินใจเกี่ยวกับตนเอง ที่จะขอตายอย่างสงบตามธรรมชาติ  ไม่ถูกเหนี่ยวรั้งด้วยเครื่องมือต่างๆ จากเทคโนโลยีทางการแพทย์  ซึ่งต้องเข้าใจว่าการแสดงเจตนาดังกล่าว มิใช่เรื่องการุณยฆาต ไม่ใช่กรณีเร่งการตายที่เป็น Active Euthanasia แต่เป็นเรื่องของการตายตามธรรมชาติ โดยไม่ประสงค์จะยืดการตายด้วยการใช้เทคโนโลยีต่างๆ

.

การตัดสินใจทำ Living Will จะต้องทำเป็นเอกสารหนังสือบันทึกไว้ล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ในขณะที่บุคคลนั้นยังมีสติสัมปชัญญะครบถ้วนสมบูรณ์ ภายใต้แนวคิดที่ว่า ในบั้นปลายของชีวิตบุุคคล พึงมีสิทธิในการตายอย่างมีศักดิ์ศรี และมีคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ โดยมีการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่เหมาะสม และไม่เป็นภาระทางเศรษฐกิจทั้งแก่บุคคลและสังคมโดยรวม

surgery-1807541_1920

ผู้ทำ Living Will จะไม่ได้ถูกปล่อยทิ้งให้ตายอย่างทุกข์ทรมาน แต่จะได้รับการดูแลรักษาแบบประคับประคอง คือการช่วยเยียวยาให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายขึ้น ทรมานน้อยลง มีการเยียวยาจิตใจผู้ป่วยและญาติ ตราบจนถึงวาระสุดท้าย ไปจนถึงการดูแลเรื่องเอกสารมรณบัตรและอื่นๆที่จำเป็น

.

การทำ Living Will สามารถทำได้ทุกคน โดยเริ่มจากการปรึกษาแพทย์ผู้รักษาเพื่อให้ทราบข้อมูลของโรค ค่าใช้จ่ายในการรักษา แนวทางปฏิบัติในกรณีที่รักษาไม่หาย โอกาสที่จะได้มีชีวิตอยู่อย่างมีคุณภาพเหลือยาวนานเท่าใด โดยในการรับคำปรึกษานี้ควรมีบุคคลใกล้ชิดหรือผู้ที่ไว้วางใจร่วมรับฟังด้วย หรือแม้แต่บุคคลที่ยังไม่ป่วยก็สามารถเตรียมทำหนังสือนี้ไว้ล่วงหน้าได้และปรับเปลี่ยนข้อมูลรายละเอียดภายหลังเมื่อมีการปรึกษาแพทย์

.

การมีพยานรู้เห็นในการทำ Living Will แม้จะเป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่ถ้าเก็บเป็นความลับ เมื่อถึงเวลาลูกหลานอาจไม่เข้าใจเมื่อถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ทำให้แพทย์ พยาบาล เกิดความลังเลสงสัยในการแสดงเจตนาฯ การมีพยานจะช่วยยืนยันว่า หนังสือนั้นทำขึ้นเมื่อผู้แสดงเจตนาฯ ยังมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์

.

วาระสุดท้ายของชีวิต หมายความว่า ภาวะของผู้ทำ Living Will อันเกิดจากการบาดเจ็บหรือโรค ที่ไม่อาจจะรักษาให้หายได้และจากการพยากรณ์โรคตามมาตรฐานทั่วไปในทางวิชาชีพ เห็นว่าภาวะนั้นจะนำไปสู่การตายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในระยะเวลาที่ไม่นาน และให้รวมถึงภาวะที่ผู้ป่วยอยู่ในสภาพผักถาวร ดังเช่นกรณีที่มักเรียกกันว่า อยู่ในสภาพเจ้าชายนิทราหรือเจ้าหญิงนิทรา คือยังมีชีวิตอยู่ แต่ไม่สามารถรับรู้อะไรได้

.

วิธีการทำ Living Will จะเขียนด้วยลายมือหรือพิมพ์ก็ได้ โดยทั่วไปแล้วควรมีข้อมูลประกอบด้วย ข้อมูลของผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาฯ เช่น ชื่อ สกุล อายุ หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้ วัน เดือน ปีที่ทำ ชื่อพยานและคุณสมบัติของพยานที่รับรองสติสัมปชัญญะของผู้ทำ (ถ้ามีใบรับรองแพทย์ก็ให้แนบไว้ด้วย) ระบุประเภทของบริการสาธารณสุขที่ไม่ต้องการจะได้รับ และกรณีที่ผู้ประกอบวิชาชีพให้บริการไปก่อนหน้าแล้ว ก็ให้ระบุข้อความว่า ให้ระงับการให้บริการนั้นได้ กรณีที่ผู้ทำ มิได้เขียนหนังสือแสดงเจตนาฯ ด้วยตนเอง ให้ระบุชื่อผู้เขียนหรือผู้พิมพ์ด้วย  ลงลายมือชื่อหรือลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาฯ ลายมือชื่อของพยาน และผู้เขียนหรือผู้พิมพ์ ทั้งนี้อาจระบุรายละเอียดอื่นๆ เช่น ความประสงค์ในการเสียชีวิตที่บ้าน ความปรารถนาของผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาฯ ที่จะได้รับการเยียวยาทางจิตใจ ซึ่งหมายรวมถึงการสวดมนต์ การปฏิบัติตามความเชื่อทางศาสนาและวัฒนธรรม

.

ผู้ที่มีความประสงค์จะทำหรือศึกษาข้อมูลเหล่านี้ สามารถดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ ThaiLivingWill.in.th ซึ่งเป็นสื่อกลางเผยแพร่แนวคิดการตายอย่างมีศักดิ์ศรี ด้วยการรักษาพยาบาลที่เคารพในเจตจำนง คุณค่า และศรัทธาของผู้ป่วย โดยเว็บไซต์นี้นำเสนอข้อมูลด้านกฎหมาย บทความ และเรื่องเล่าประสบการณ์ในวาระสุดท้าย เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับหนังสือแสดงเจตนาและสร้างความเข้าใจเรื่องการตายอย่างสงบตามธรรมชาติ

.

การทำ Living Will เป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณาถึงสภาวะของชีวิตอย่างมีสติ และการเตรียมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างเป็นเหตุเป็นผล จะช่วยให้คนเรารับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ดีกว่าการที่ไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจรับความจริงใดๆไว้เลย โดยเฉพาะความเจ็บป่วยและความตาย การเตรียมตัวที่ดีอาจช่วยบรรเทาความทุกข์ที่ต้องประสบในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต อีกทั้งยังช่วยป้องกันไม่ให้สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับตัวเรากลายเป็นภาระแก่คนอื่นรอบข้าง หรือเป็นภาระสังคม

อ้างอิง หนังสือแสดงเจตนาเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลในวาระสุดท้ายของชีวิต ศาสตราจารย์ แสวง บุญเฉลิมวิภาส

https://www.thailivingwill.in.th

ความต้องการครั้งสุดท้ายของชีวิต ดวงพร เพชรคง https://www.parliament.go.th/

https://www.investopedia.com/terms/l/livingwill.asp

Related posts:

You may also like...