เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการทำ ‘พินัยกรรม’

pen-4163403_1920-sm

การเกิดแก่เจ็บตายเป็นเรื่องสามัญ การวางแผนที่ดีจะช่วยให้เราทุกคนผ่านทุกช่วงของชีวิตไปได้อย่างราบรื่น หนึ่งในการวางแผนชีวิตที่คนมักไม่อยากคิดถึงคือ การทำพินัยกรรม ด้วยมองว่า เป็นเรื่องที่ฟังดูไม่เป็นมงคล แต่สำหรับประชากรในประเทศที่เจริญแล้ว การทำพินัยกรรมเป็นสิ่งที่คนให้ความสำคัญมาก เพราะเป็นการแสดงออกถึงความรับผิดชอบในชีวิตของตนเองและคนที่ตนเองรักอย่างเป็นรูปธรรม โดยไม่ทิ้งภาระไว้ให้สังคมต้องเดือดร้อน

.

พินัยกรรมคืออะไร

 พินัยกรรมคือเอกสารที่ใช้ระบุว่า เราต้องการที่จะมอบทรัพย์สินให้แก่ผู้ใดบ้าง หากเราจากโลกนี้ไปแล้ว หากไม่ได้มีการทำพินัยกรรมเอาไว้ล่วงหน้า เมื่อเสียชีวิตลงทรัพย์สินของเราจะตกไปอยู่กับทายาทโดยธรรม ตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ มาตรา 1629 ผู้ที่กฎหมายถือว่าเป็นทายาทโดยธรรมของเรามี 6 ลำดับ แต่ละลำดับมีสิทธิ์ได้รับมรดกก่อนหลัง ดังนี้ คือ ผู้สืบสันดาน บิดามารดา พี่น้องร่วมบิดามารดา พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดา ปู่ ย่า ตา ยาย และ ลุง ป้า น้า อา ตามลำดับ นั่นหมายถึงว่า ถ้าเราไม่เขียนระบุให้ชัดเจนก่อนว่า เราอยากแบ่งอะไรให้ใครมากน้อยแค่ไหน การแบ่งสันปันส่วนตามกฎหมายก็จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ซึ่งอาจจะถูกใจเราหรือไม่ถูกใจเราก็ได้ ถ้าเราเป็นคนมีทรัพย์สินพอสมควรและมีความตั้งใจอยู่แล้วว่าอยากส่งต่อให้ใครในวันที่เราไม่อยู่ การทำพินัยกรรมก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ควรทำ

.

อายุเท่าไหร่จึงทำพินัยกรรมได้

แม้เราจะเห็นภาพในหนังหรือในข่าวรอบตัวบ่อยๆว่า การทำพินัยกรรมเป็นเรื่องของคนแก่เฒ่า แต่ความจริงแล้วการทำพินัยกรรมไม่จำเป็นต้องรอจนแก่หง่อมใกล้เสียชีวิตแล้วจึงคิดจะทำ เพราะหากถึงตอนนั้นสติสัมปชัญญะอาจไม่ครบถ้วน ร่างกายจิตใจไม่พร้อมสมบูรณ์ ก็อาจจะสายเกินไป คนที่จะทำพินัยกรรมได้นั้น ขอเพียงแค่มีคุณสมบัติ 2 ข้อ คือ มีอายุครบ 15 ปีขึ้นไป และศาลไม่ได้มีคำสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ

.

พินัยกรรมนั้นสำคัญไฉน

ความจำเป็นพื้นฐานของคนเราในการทำพินัยกรรมให้ถูกกฎหมายนั้น โดยทั่วไปแล้วจะแบ่งออกเป็นสองเรื่องใหญ่ๆ คือ

  1. เรื่องทรัพย์สิน ว่าผู้ทำพินัยกรรมประสงค์จะยกทรัพย์สินหรือประโยชน์ให้แก่ใครบ้าง ทรัพย์สินหรือประโยชน์ที่จะยกให้นั้นต้องเป็นของตนเอง มิใช่เป็นทรัพย์สินหรือประโยชน์ของคนอื่น เช่น เรื่องลิขสิทธ์ ซี่งเป็นสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา เจ้ามรดกอาจจะเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในลิขสิทธิ์นั้นร่วมกับผู้อื่นอีกก็ได้ ดังนั้นสามารถทำพินัยกรรมยกเฉพาะส่วนที่ตนมีสิทธิเท่านั้นให้แก่ผู้อื่นได้
  2. เรื่องกำหนดการอื่นๆ การทำพินัยกรรมนอกจากจะกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินหรือสิทธิอันใดแล้ว ยังสามารถระบุเรื่องอื่น ๆ ไว้ได้เช่นกัน เช่น การจัดการเรื่องพิมพ์หนังสือที่ระลึกในงานศพ การจัดตั้งผู้จัดการศพ หรือการระบุบริจาคร่างกายของตนให้แก่โรงพยาบาล เป็นต้น

.

ใครบ้างที่ควรทำพินัยกรรม

กฎหมายไม่ได้มีข้อบังคับให้ใครต้องทำพินัยกรรม เพราะการแบ่งทรัพย์สินหลังจากเสียชีวิตนั้นมีกฎหมายรองรับชัดเจนอยู่แล้วตามที่บอกข้างต้น การทำพินัยกรรมถือเป็นความต้องการของบุคคลว่า ต้องการส่งต่อความมั่งคั่ง ความปรารถนาดี หรือตอบแทนน้ำใจให้แก่ผู้ที่ตนเองให้ความสำคัญหรือมีความรักใคร่เมตตาในลักษณะใด คนที่ทำพินัยกรรมจึงมักเป็นผู้ที่มีทรัพย์สินมีค่าที่เหลือพอตกทอดให้ทายาท หรือเป็นผู้ที่มีบุคคลต้องอุปการะดูแลให้อยู่ดีมีสุข หลังจากที่เจ้าของทรัพย์สินนั้นจากไปแล้ว ซึ่งอาจไม่ใช่ทายาทตามกฎหมาย แต่เป็นผู้ที่เจ้าของพินัยกรรมมีเจตจำนงที่จะมอบทรัพย์สิน หรือมอบหมายภารกิจเป็นกำหนดการที่ต้องให้ปฏิบัติ เช่น เพื่อนสนิท คนรักหรือคู่ชีวิตที่มิได้สมรสกันตามกฎหมาย เรื่อยไปจนถึงการมอบให้หน่วยงานประเภทองค์กร หรือมูลนิธิด้านการกุศลต่างๆ

.

ในปัจจุบันมีเรื่องของคู่ชีวิตเพศเดียวกันเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นสถานะการสมรสที่ยังไม่ผ่านการรองรับตามกฎหมายในประเทศไทย เมื่อคู่ชีวิตฝ่ายหนึ่งจากไปโดยไม่ได้ทำพินัยกรรม ทรัพย์สินที่ตั้งใจจะมอบให้สามีภรรยาเพศเดียวกัน หรือคู่ครองนอกสมรส ก็จะไม่ได้ถูกแบ่งปันให้ตามที่เจ้าของทรัพย์ปรารถนา แต่ไปตกแก่ทายาทตามกฎหมาย ซึ่งอาจไม่ได้มีความสัมพันธ์หรือเกี่ยวข้องกันเลยในทางพฤตินัย การทำพินัยกรรมจึงเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจหากเรามีคนที่รักและห่วงใยอยู่ข้างหลัง

.

ประเภทของพินัยกรรม

มีด้วยกัน 5 แบบ ได้แก่ 1. พินัยกรรมแบบธรรมดา 2. พินัยกรรมเขียนเองทั้งฉบับ 3. พินัยกรรมทำเป็นเอกสารฝ่ายเมือง 4. พินัยกรรมทำเป็นเอกสารลับ และ 5. พินัยกรรมทำด้วยวาจา ซึ่งพินัยกรรมที่ได้รับความนิยมในการเขียนมากที่สุด คือ แบบที่ 1 และ แบบที่ 2 นั่นเอง เพราะแบบที่ 3, 4 และ 5 นั้น เป็นแบบที่ต้องมีเจ้าหน้าที่อำเภอหรือผู้ที่รับผิดชอบต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้องหรือจัดทำให้ ซึ่งมีขั้นตอนมาก อาจต้องเสียค่าธรรมเนียม และต้องมีพยานหลักฐาน

.

ถ้าอยากทำพินัยกรรมต้องทำอย่างไร

โดยมาตรฐานเบื้องต้น การเขียนพินัยกรรมจะต้องประกอบด้วยข้อมูล ได้แก่  ชื่อพินัยกรรม สถานที่ทำพินัยกรรม วัน/เดือน/ปี ที่ทำพินัยกรรม ชื่อ-นามสกุล และอายุ ของผู้ทำพินัยกรรม ที่อยู่ของผู้ทำพินัยกรรม ข้อความว่าชี้แจงทรัพย์สิน และมรดก ที่มีอยู่ในปัจจุบัน รายชื่อผู้ที่จะได้รับมรดก ข้อความรับรองว่าพินัยกรรมทั้งหมดเป็นความจริง และผู้เขียนมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ดีทุกประการ ลงชื่อผู้ทำพินัยกรรม ซึ่งสมัยนี้สามารถหาแบบฟอร์มพินัยกรรมแบบดาวน์โหลดออนไลน์ได้สะดวกสบาย

.

ข้อจำกัดและข้อควรระวังในการทำพินัยกรรม

เพื่อไม่ให้ผิดพลาด ผู้ทำพินัยกรรมต้องใส่ใจในเรื่องเหล่านี้ คือ พินัยกรรมเป็นนิติกรรมที่ต้องทำตามแบบที่กำหนดเท่านั้น ต้องเขียน วัน เดือน ปี ลงลายมือชื่อทั้งผู้ทำพินัยกรรมและผู้ที่เป็นพยาน โดยผู้ที่เป็นพยานจะต้องไม่เป็นผู้เยาว์หรือผู้หย่อนความสามารถ และต้องไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกนั้นด้วย ผู้ทำพินัยกรรมต้องมีอายุ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป พินัยกรรมควรจะตั้งผู้จัดการมรดกโดยสามารถระบุผู้ทำหน้าที่ผู้จัดการมรดกที่เจ้ามรดกไว้ใจลงในพินัยกรรมไปได้เลย สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบ ก็สามารถกำหนดในพินัยกรรมได้ ทรัพย์สินที่ระบุในพินัยกรรมต้องเป็นทรัพย์สินหรือสิทธิของผู้ทำพินัยกรรมเท่านั้น ทั้งต้องแยกสินส่วนตัวออกจากสินสมรสด้วย เงินประกันชีวิต เงินบำเหน็จตกทอด เงินมีบำนาญตกทอด เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ตกทอด ไม่อาจเป็นมรดกที่ระบุลงในพินัยกรรมได้ เพราะไม่ใช่ทรัพย์ที่เจ้ามรดกมีอยู่ก่อนเสียชีวิต

.

เมื่อเราได้รู้จักและเข้าใจถึงประโยชน์ และขั้นตอนที่จำเป็นสำหรับการทำพินัยกรรมแล้ว ก็ลองพิจารณาดูว่า การทำพินัยกรรมนั้นมีความสำคัญกับเรามากน้อยเพียงใด หากเห็นว่ามีความสำคัญ ก็สามารถเริ่มต้นทำได้ทันทีที่พร้อม ซึ่งก็ถือเป็นการวางแผนชีวิตที่รอบคอบสำหรับคนยุคใหม่ที่ใส่ใจกับการบริหารชีวิตตัวเองให้เป็นระบบอีกด้วย

 

อ้างอิง

https://www.bora.dopa.go.th/CallCenter1548/index.php/menu-general/12-service-handbook/general/40-general-testament

https://www.krungthai-axa.co.th/th/how-to-make-a-will

https://www.scb.co.th/th/personal-banking/stories/tips-for-you/testament.html

Related posts:

You may also like...