ไลฟ์สไตล์หลากวัฒนธรรม

different-nationalities-1743392_1920

Multicultural Lifestyle

ความหลากหลายทางวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่มีอยู่ทั่วไปในทุกสังคม โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆที่มีผู้คนหลากชาติหลากภาษาอยู่ร่วมกัน และมีการเดินทางไปมาหาสู่กันกับสังคมอื่นๆ ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายแลกเปลี่ยนทั้งประชากรและวัฒนธรรมระหว่างกันอย่างไม่หยุดนิ่ง ก่อให้เกิดเป็นลักษณะสังคมแบบพหุวัฒนธรรม

.
สังคมไทยก็เป็นหนึ่งในสังคมพหุวัฒนธรรม (Multicultural Society) มาตั้งแต่ยุคอดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งหมายถึงการเป็นสังคมที่มีการอยู่รวมกลุ่มของคนที่มีความหลากหลายทางด้านต่างๆ เช่น ชาติพันธุ์ ศาสนา ความเชื่อ ภาษา วิถีการดำเนินชีวิต ขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม จารีต ประเพณี เรื่อยไปจนถึงความหลากหลายของรสนิยมทางเพศ เพศสภาพ วัยวุฒิ คุณวุฒิ และความเชื่อในขอบเขตของสิทธิเสรีภาพ ซึ่งกำลังเป็นประเด็นที่กำลังถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน ว่ามีสิ่งใดบ้างที่สังคมพึงยอมรับในความแตกต่างอย่างเท่าเทียม และสิ่งใดที่เป็นข้อจำกัด

.
การพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีด้านการสื่อสารและคมนาคมสมัยใหม่ เป็นปัจจัยสำคัญที่เร่งให้เกิดรูปแบบสังคมพหุวัฒนธรรมรวดเร็วและเข้มข้นขึ้นกว่าในสมัยก่อน แม้ว่าที่ผ่านมา คนไทยเราจะคุ้นชินกับการเปิดรับวัฒนธรรมใหม่ๆ และมีการเลือก รับ ปรับ ใช้ หลายวัฒนธรรมใหม่ที่เข้ามาในสังคมกับวัฒนธรรมดั้งเดิมในท้องถิ่นได้อย่างผสมกลมกลืนอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมการใช้ชีวิตและความเชื่อที่ได้รับอิทธิพลจากต่างชาติ เช่น ตะวันตก ญี่ปุ่น เกาหลี จากประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน และจากแหล่งวัฒนธรรมใหญ่ของโลกตะวันออกอย่างเช่น จีน และ อินเดีย เราจึงเห็นคนไทยฉลองได้ทั้งคริสตมาส ตรุษจีน วาเลนไทน์ มีการจัดพิธีแต่งงานทั้งไทยทั้งฝรั่ง สนุกรื่นเริงได้กับทุกเทศกาล ชื่นชอบความหลากหลายของอาหารการกินนานาชาติ บันเทิงได้กับศิลปะการแสดงและภาพยนตร์ทั้งไทย ฝรั่ง เกาหลี ฯลฯ แต่ความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทางเทคโนโลยี เศรษฐกิจ และสังคม ที่ส่งผลต่อความหลากหลายทางวัฒนธรรมนั้นก็อาจทำให้ผู้คนส่วนหนึ่งไม่พร้อมที่จะรับมือกับความแตกต่างหลากหลายในแบบอื่นๆที่ไหลบ่าเข้ามาด้วยอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการแบ่งแยก การเหยียด และนำไปสู่ความขัดแย้งที่ทำให้สังคมไม่มีความสงบสุข ยกตัวอย่างเช่น ความขัดแย้งของผู้คนต่างเชื้อชาติต่างศาสนาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ที่เป็นต้นเหตุของการก่อความไม่สงบ การก่อการร้าย นำไปสู่การสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน หรือแม้แต่ความขัดแย้งของผู้ที่มีความคิดเห็นทางการเมืองต่างกัน ทัศนคติที่แตกต่างกันของคนต่างวัย หรือทัศนะเกี่ยวกับเพศสภาพ ของสมาชิกในครอบครัวเดียวกัน หากไม่มีการจัดการให้เหมาะสมด้วยสันติวิธี ก็อาจนำมาซึ่งความไม่สงบสุขในครอบครัว

.
การสร้างสันติสุขในสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม สามารถทำได้ทั้งในระดับนโยบายของชาติ และทำได้จากการสร้างทัศนคติที่ถูกต้องในครอบครัว ซึ่งเป็นหน่วยสังคมที่เล็กที่สุด แต่มีความสำคัญที่สุด โดยพ่อแม่หรือสมาชิกที่มีความเข้าใจในเงื่อนไขของการใช้ชีวิตอย่างมีสันติสุขในวิถีพหุวัฒนธรรม สามารถปลูกฝังให้ลูกหลานหรือสร้างความเข้าใจให้สมาชิกคนอื่นๆ เรียนรู้ที่จะยอมรับในความแตกต่างหลากหลายที่มีอยู่ในสังคม เพื่อให้สามารถที่จะรวมกันได้เป็นหนึ่งเดียวแม้ว่าจะไม่กลมกลืน ด้วยการเปิดหูเปิดตา เปิดใจ รับรู้ รับฟัง ให้เกียรติ เคารพ ไม่ตัดสินว่าใครแตกต่าง ไม่ดูถูกเหยียดหยามว่าคนอื่นนั้นต่ำหรือด้อยกว่าตน ไม่พยายามเปลี่ยนหรือครอบงำคนที่แตกต่างให้มาเป็นเหมือนตัวเอง สร้างความเข้าใจให้เกิดการยอมรับว่า แม้บางความแตกต่างจะไม่อาจอยู่ร่วมกันแบบผสานรวมเป็นพวกเดียวกันได้อย่างผสมกลมกลืน ก็ไม่จำเป็นต้องแบ่งแยก  แบ่งชนชั้น กดขี่ ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ หรือแบ่งพรรคแบ่งพวกเป็นศัตรูกัน

.
ข้อมูลข่าวสารที่ไหลบ่าเข้ามามากมายทุกวันนี้ นอกจากจะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ยังทำให้เราได้รับประโยชน์ต่างๆมากมายจากความรู้หลากวัฒนธรรมที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น ช่วยให้เรามีโอกาสทำความเข้าใจและเรียนรู้ถึงความแตกต่างหลากหลายได้ดีขึ้นในขณะเดียวกัน หากเรารู้จักเปิดใจยอมรับโดยปราศจากอคติ นำมาซึ่งการเลิกทำพฤติกรรมกดขี่หรือเหยียดหยันในความต่างให้หมดสิ้นไป ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาการเหยียดเชื้อชาติที่หยั่งรากฝังลึกในหลายประเทศรวมถึงในบ้านเรา ซึ่งเป็นค่านิยมผิดๆ ที่สร้างปัญหาสังคมเรื้อรังในหลายมิติ ทำให้เกิดการตัดสินผู้คนในทางลบแบบเหมารวมเชื้อชาติ เลิกใช้วาทกรรมที่แสดงถึงความรังเกียจเดียดฉันท์ การเรียกขานชาติพันธุ์อื่นในความหมายเชิงดูถูก เช่น แขก เจ๊ก ยุ่น ลาว เสี่ยว ไอ้มืด ไอ้กัน ฯลฯ เลิกใช้ถ้อยคำที่สื่อถึงการเหยียดเพศสภาพ เหยียดบุคลิกภาพ เหยียดสภาพร่างกายที่แตกต่าง เหยียดสถานะทางสังคม เหยียดความเชื่อทางศาสนา หรืออุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่างขั้ว ฯลฯ เลิกการแบ่งพรรคแบ่งพวก แบ่งชนชั้น และนำมาสู่การเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

.
หากสมาชิกในครอบครัวได้รับการปลูกฝังให้มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อวิถีพหุวัฒนธรรม ไม่เพียงแต่เขาจะออกไปทำหน้าที่เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพในสังคมภายนอก แต่เขายังเป็นสมาชิกที่มีคุณภาพในครอบครัวด้วย ปัญหาหลายอย่างที่เคยมีจากความไม่เข้าในกันในหลายครอบครัวจะค่อยๆหมดไป เช่น ปัญหาช่องว่างระหว่างวัยระหว่างพ่อแม่กับลูกหรือสมาชิกรุ่นอาวุโสกับบุตรหลานวัยเยาว์ การที่ลูกหลานสามารถเข้าใจได้ว่า ทัศนคติที่แตกต่างกันระหว่างตัวเขากับพ่อแม่หรือปู่ย่าตายายนั้น เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของความหลากหลายทางวัฒนธรรม ที่อาจมีได้แม้ในสังคมขนาดเล็กอย่างครอบครัว ซึ่งเขาจะต้องพบกับความหลากหลายที่มากกว่านี้ ให้ต้องรับมืออีกมากมายหลายเท่าในโลกกว้าง และเรียนรู้ที่จะยอมรับในทัศนะที่แตกต่าง โดยไม่จำเป็นต้องหักล้างฝ่ายตรงข้าม หรือเปลี่ยนแปลงตัวเอง และไม่จำเป็นต้องตัดสินให้เด็ดขาดว่าใครแพ้ใครชนะ หรือใครผิดใครถูก อย่างที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Agree to Disagree คือการยอมรับในความคิดเห็นที่แตกต่างกันนั้น จะทำให้เขาสามารถอยู่ร่วมกับสมาชิกในทุกสังคมได้อย่างมีความสุข

.
อีกหนึ่งกลไกสำคัญที่จะสร้างความสงบสุขได้ในสังคมพหุวัฒนธรรม คือการส่งเสริมให้ทุกสังคมเลือกที่จะกำหนดและดำเนินนโยบายอย่างเป็นทางการที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติต่อวัฒนธรรมต่างๆ อย่างเท่าเทียมกัน ยกตัวอย่างเช่น ในกองถ่ายทำภาพยนตร์ของ Netflix จะมีนโยบายที่เคร่งครัดในการปฏิบัติต่อทีมงานทุกฝ่ายทุกระดับอย่างเท่าเทียม ผู้บริหารกองถ่ายจะใช้กฎกติกาที่เป็นธรรมสำหรับทุกคนด้วยมาตรฐานเดียวกัน ไม่มีการแบ่งชนชั้น วรรณะ ไม่มีการกีดกั้นหรือกดขี่ว่าใครเป็นนักแสดงที่บทบาทสำคัญมากหรือน้อย ไม่มีการปฏิบัติที่แตกต่างสำหรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ มีการให้เกียรติผู้ร่วมงานบนพื้นฐานความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียม ซึ่งเป็นสิ่งดีงามที่แปลกใหม่และแตกต่างจากวัฒนธรรมที่ปฏิบัติกันมาในวงการอาชีพบันเทิงทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทย ที่ในอดีตจนถึงปัจจุบันมีแนวโน้มจะจัดวางชนชั้นให้ทีมงานผู้ที่มีบทบาทสำคัญหรือมีชื่อเสียงได้รับอภิสิทธิ์ที่เหนือกว่าทีมงานทั่วไป และมักเหยียดผู้ที่มีเพศสภาพแตกต่างให้อยู่ในสถานะที่ด้อยกว่า หรือเรียกขานด้วยสรรพนามเชิงล้อเลียนให้ดูตลกขบขัน ซึ่งแสดงถึงการไม่ให้เกียรติ การแบ่งแยก และการลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น แม้ตัวอย่างที่หยิบยกมานี้จะเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ แต่ก็ทำให้เห็นได้ชัดว่า การเปิดใจยอมรับในวิถีพหุวัฒนธรรมจะช่วยทำให้สิ่งต่างๆพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น และนำสันติสุขมาสู่เราทุกคน

.
ไม่เพียงการปรับตัวตามวิถีพหุวัฒนธรรมระหว่างมนุษย์กับมนุษย์เท่านั้น มีข้อสันนิษฐานว่า ในอนาคตอันใกล้ เราอาจต้องเรียนรู้ที่จะต้องปรับตัวให้เข้ากับพหุวัฒนธรรมของสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ ที่เรียกกันว่า ปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence คือการสร้างสิ่งไม่มีชีวิตที่ถูกสร้างขึ้นจากวิทยาการคอมพิวเตอร์ และวิศวกรรม และศาสตร์อื่นๆให้เหมือนสิ่งมีชีวิตจริงๆ ที่กำลังมีอิทธิพลอย่างยิ่งกับชีวิตประจำวันของเราด้วย ซึ่งหลายคนอาจจะจินตนาการไปถึงหุ่นยนต์ที่มีหน้าตาเหมือนมนุษย์จนแทบแยกไม่ออกอย่างในหนัง แต่ความจริงแล้ว วัฒนธรรมปัญญาประดิษฐ์อยู่ใกล้เรามากกว่าที่คิด แม้จะไม่ได้มาในรูปโฉมเดียวกับมนุษย์ เช่น ระบบนำทางของกูเกิล ระบบสืบค้นข้อมูลต่างๆ ระบบช่วยเหลือที่โต้ตอบรับความต้องการของเราได้ รวมถึงระบบปัญญาประดิษฐ์ในโซเชียลมีเดียที่คอยเก็บข้อมูลเราทุกอย่างเพื่อนำมาทายใจและเสนอขายสิ่งนั้นสิ่งนี้ให้เรา เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมใหม่ที่เข้ามาสู่ชีวิตเราท่ามกลางความหลากหลายต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หยุดนิ่ง สิ่งเหล่านี้ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ยังไม่มีใครตอบได้ว่า ท้ายที่สุดแล้วชีวิตของเราจะถูกเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด แต่ด้วยธรรมชาติของมนุษย์นั้นเป็นสิ่งมีชีวิตที่ปรับตัวเก่ง เราจึงอยู่รอดมาได้ยาวนาน การปรับตัวกับความแตกต่างหลากหลายไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็คงไม่เกินความสามารถของเราทั้งนั้น

.
In sociology, multiculturalism describes the manner in which a given society deals with cultural diversity. Based on the underlying assumption that members of often very different cultures can coexist peacefully, multiculturalism expresses the view that society is enriched by preserving, respecting, and even encouraging cultural diversity. In the area of political philosophy, multiculturalism refers to the ways in which societies choose to formulate and implement official policies dealing with the equitable treatment of different cultures.

.
อ้างอิง

https://www.thoughtco.com/what-is-multiculturalism

https://prachatai.com/journal/2018/09/78531

Related posts:

You may also like...