สมองเสื่อม โรคร้ายที่น่ากลัวกว่ามะเร็ง-หัวใจ-เบาหวาน-ความดัน

doctor

ในบรรดาโรคภัยไข้เจ็บทั้งหลายของผู้สูงวัย หนึ่งในโรคที่ร้ายแรงแต่ดูยากรักษายาก และป้องกันยากที่สุด ก็คือ โรคสมองเสื่อม เพราะเป็นโรคที่ซ่อนอยู่ภายใต้สภาพภายนอกที่ดูเป็นปกติ

ปัญหาโรคสมองเสื่อมมีเยอะมาก และผู้ป่วยปริมาณเยอะขึ้นมากกว่าที่ทางการแพทย์คาดการณ์ไว้ เราพบว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง หมอ บุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ ทางญาติผู้ป่วยไม่รู้จักว่าโรคสมองเสื่อมคืออะไร หลายครั้งมันค่อยๆเกิดขึ้นช้าๆจะไม่เหมือนอัมพาต อัมพฤกษ์ ที่เราจะเห็นคนไข้แขนขาไม่มีแรง ล้มไปปากเบี้ยว แต่ในคนไข้สมองเสื่อมสิ่งที่เกิดขึ้นมันเกิดข้างในหัว ข้างนอกหน้าตาเหมือนเดิม กว่าที่จะเห็นหน้าตาเปลี่ยนไปโรคก็ดำเนินไปเยอะแล้ว ช่วงต้นๆจะไม่รู้เลยว่าคนไข้คนนี้ชักจะไม่เหมือนเดิมแล้ว

หลายครั้งที่คนในครอบครัวสังเกตเห็นว่าเขาผิดปกติ แต่ยังพยายามเข้าข้างตัวเองว่าอาจจะไม่ใช่ หรือบางทีคิดว่าแก่แล้วต้องอย่างนี้แหละแม้แต่ตัวคนไข้เอง เพราะบางทีคนไข้เองก็ไม่อยากเป็นเหมือนกัน คนไข้ที่จะมาถึงก็เป็นค่อนข้างเยอะแล้ว จะมาตอนที่ครอบครัวมีปัญหากัน เดิมเขาก็จะรู้สึกลืมนิดๆหน่อยๆทนได้แต่พอเป็นเยอะเขาก็บอกไม่ไหวแล้ว ก็ต้องพามา แล้วเวลาที่พามาสิ่งที่อาจารย์สัมผัสคือ คนที่พาคนไข้มาส่วนใหญ่มีอารมณ์โกรธหงุดหงิดกับคนไข้

เราจะเจอว่าคนส่วนใหญ่เวลาที่จะพาคนไข้มาหาหมอ คนไข้เป็นโรคหนักหนาสาหัส เช่น คนไข้เป็นมะเร็งหรือโรคอย่างอื่นที่ดูแย่ บวมปวดไปหมด ญาติจะรู้สึกพยายามที่จะช่วยเหลือ แต่ในคนไข้สมองเสื่อมญาติมักจะโกรธคนไข้เพราะหน้าตาเขาจะเหมือนเดิม แต่ต้องทะเลาะกันตีกันพูดกันไม่รู้เรื่องมา ทำให้มีความรู้สึกไม่ดี

หลายขั้นที่คนไข้อยู่กับครอบครัวของผู้ชาย ลูกสะใภ้เป็นทุกข์มากมาย บางทีทนไม่ไหวก็ให้เลือกเลย ระหว่างเธอจะเอาพ่อเธอหรือจะเอาชั้น เพราะไม่ไหวแล้ว เป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อสถาบันครอบครัวด้วย ถ้ามันอยู่ในเรื่องที่เขาไม่สามารถจะบริหารจัดการได้

การดูแลคนไข้สมองเสื่อมยากกว่าการดูแลคนไข้มะเร็งหรือการดูแลอย่างอื่น เพราะมันมีเรื่องผลกระทบทางความคิด เรื่องของแนวคิดเรื่องของอะไรที่มันจะคาบเกี่ยวเรื่องค่านิยมของสังคมไทยด้วย

 

เรื่องของการดูแลผู้สูงอายุ โดยเฉพาะการจัดการผู้ป่วยสมองเสื่อม อย่างนี้ไม่ใช่เรื่องของหมอ เป็นเรื่องของทุกคน เราอยากทำไปจนหยดสุดท้าย อยากทำให้ชุมชนของประเทศเราเป็นมิตรกับคนไข้สมองเสื่อม ไม่เบื่อ ไม่รำคาญ ไม่ใช่บอกแปดโมงก็ส่งกลับบ้านไปทีนึงแล้ว นี่เดินมาอีกแล้ว กลายเป็นว่าบ้านนี้ชอบเดิน เราไปอยู่ในศูนย์ผู้สูงอายุตรงนั้น ให้แกห่อแหนม ทำไม้กวาด แล้วมีคนอื่นที่จะดูแลให้เขาทำกิจกรรมเหล่านี้ แทนที่จะบอกกลับบ้านไป แล้วบ้านอยู่กันสองคนตายาย ยายก็จับตาไม่ทัน ตาก็แผล็บออกไปอีกแล้ว ทำให้ชุมชนสามารถดูแลพวกนี้ได้โดยที่ไม่ต้องร้องขอ อยากให้มันเป็นไปโดยที่ทุกคนรู้ว่านี่คือคนในชุมชนนะ เราจะช่วยกันดูแล เจอคนนี้เดินออกไปแล้วพากลับบ้าน ถ้าจะไปซื้อของในหมู่บ้านรู้ก็อย่าไปหลอกเขา เขาไม่รู้หรอกว่าทอนเงินผิดหรือถูก เขาซื้อของเก้าบาททอนให้เขานิดเดียวก็ไม่ใช่ ถ้าเขาเกิดอยากจะซื้อเยอะเดินไปเซเว่น ซื้อขนมปังสามสิบก้อน เราก็ไม่ขายให้ ก็บอกว่าวันนี้คุณตาเอาไปสองก้อนพอนะคะ ใครจะกินหมด เขามาขอซื้อนมสิบเอ็ดขวด หยิบได้เท่าไหร่เอามากองบนเคาน์เตอร์ บอกคนดีอันนี้ไม่ได้เนอะ

ในบางที่พอรู้ว่าคนนี้เอามา เขาใส่ถุงให้เสร็จ พาส่งกลับไปถึงที่เลย เพื่อให้เขาอยู่ในชุมชนนานขึ้น แทนที่จะต้องไปอยู่เนอร์สซิ่งโฮม อันนี้เป็นบทเรียนมาจากญี่ปุ่น เดิมพอคนทำงานนานถึงขั้นนึงขอเก็บภาษีเพิ่ม ภาษีเพิ่มนี่เผื่อไว้ว่าถ้าต่อไปคุณไม่มีญาติพี่น้อง ไม่มีใครดูแลเขาจะส่งไปเนอร์สซิ่งโฮมแล้วเอาเงินมาช่วย แต่ปรากฏว่าญี่ปุ่นเจ๊ง เพราะคนเป็นสมองเสื่อมเยอะ และค่าจ้างแรงงานที่จะมาดูแลคนให้พวกนี้แพง คนไข้ก็ไม่ตาย พอไม่ตายเขาคาดว่าคนทำงานถึง 65 ปี อาจจะเลี้ยง 20 ปี จริงๆเลี้ยง 20 ปียังไม่ตาย ตอนนี้ตังค์หมดญี่ปุ่นเจ๊ง ก็พยายามทำยังไงไม่ให้คนไข้เข้าเนอร์สซิ่งโฮม อยู่ในชุมชนให้ชุมชนดูแล ชวนกันออกกำลังกาย บ้านนี้มีหน้าที่ดูว่ามีข้าวกินหรือยัง มีหน้าที่ดูว่าวันนี้อาบน้ำรึยัง มีคนมาช่วยดูอาทิตย์นึงตัดเล็บให้ ถ้าเป็นฝรั่งเขาจะมาดูว่าต้องเป็นยังไง ฝรั่งขึ้นลงเตียงยาก มันจะมีระบบที่จะช่วยดู

ภัยของผู้สูงอายุมีทั้งโรคภายนอกและภายใน และจำนวนผู้สูงอายุก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆจนหวั่นใจว่าจะเป็นปัญหา ประเทศไทยเราช่วง 2506-2526 ยี่สิบปีมา เป็นช่วงปีที่มีเด็กเกิดมากกว่าหนึ่งล้านคนต่อปี ติดต่อกันยี่สิบปี เราเรียกรุ่นเกิดล้าน คนพวกนี้จะเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่จะเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ เขาจะเป็นผู้สูงอายุตอน 2566 ห่างจากนี่อีกสี่ปี หลัง 2566 เป็นต้นไป จะมีผู้สูงวัยเข้าสู่ผู้สูงอายุปีละกว่าล้านคนติดต่อกันเป็นเวลายี่สิบปี แล้วเรามีหกสิบกว่าล้านคนภายในอีกยี่สิบสี่ปี ไม่ต้องนับของเก่ามีเท่าไหร่ รู้ว่าของใหม่จะเข้าไปรวมเบ็ดเสร็จจนถึงวันนี้ยี่สิบล้าน ของเก่ามีตั้งหลายล้านอยู่แล้ว มันจะเยอะจนน่ากลัว

สิ่งที่ต้องทำคือการป้องกัน ทำอย่างไรให้คนยี่สิบกว่าล้านที่วันนี้ยังไม่เป็นผู้สูงอายุไม่เจ็บป่วย ถ้าเราปล่อยให้คนพวกนี้ป่วย จะพังทั้งประเทศ จะไม่มีสตางค์มาให้เขาดูแล โครงการสามสิบบาทฯ ก็ต้องเจ๊งถ้าเราปล่อยให้คนป่วย

เราต้องให้คนบอกว่าฉันจะดูแลตัวเอง จะไม่เป็นสมองเสื่อม จะไม่ฟาด KFC กันจนอ้วนเป็นอึ่งอ่าง เราจะต้องสอนคน เด็กทำไมอ้วน แม่บ้านอ้วนทุกคนเพราะเขาไม่รู้ เขากินเพราะแต่ก่อนเขาไม่มีเงิน เขาอยากกิน ตอนนี้เขามีเงินซื้อ มันก็ไม่แพง เดี๋ยวนี้ไก่ทอดถูกจะตาย เขาก็กินของที่อร่อย แต่เราก็บอกว่าให้กินแค่นี้ ไม่กินอีกแล้ว ให้กินชิ้นเดียว กล้วยทอดอยากกินซื้อมาเยอะๆกินสองชิ้นที่เหลือแบ่งกัน แต่ต้องบอกเขาว่าของไม่ดีนะ ให้กินพอหายอยาก ไอติม ขนมเค้ก ทุเรียนไม่ให้กินได้ยังไง คนเป็นเบาหวานมันต้องกิน แต่ต้องบอกเขาว่าพูนึงพอไหม มื้อนี้กินผักเยอะหน่อยได้ไหม หลังจากนั้นเดินยี่สิบนาทีนะ เขาก็ยอม กลับมาน้ำตาลก็ดีขึ้น ปีนี้ได้กินสี่พูเลย มันคือความเข้าใจ คือ Health literacy

Health literacy คือเรื่องของการดูแลตัวเอง ที่สำคัญเราต้องรู้จักร่างกายเราต้องรู้ว่าอะไรบวกกับร่างกายเรา อะไรไม่ดีกับร่างกาย

เรา เราต้องรู้ว่าเราจะต้องกินอะไรแล้วมันจะได้ผลอะไร ง่ายๆเขาบอกว่าอย่าให้หมากินของหวานเดี๋ยวมันดุ คนยังรู้เลยว่าหมากินแล้วดุ คนก็ต้องรู้ว่ากินอะไรแล้วอารมณ์ดีกินอะไรแล้วอารมณ์ไม่ดี เช่น คนบางคนเป็นหวัดบ่อยๆก็จะบอกอาจารย์ว่าจับได้แล้ว ถ้ามาอย่างนี้ทีไรแย่ทุกรอบ บอกอาจารย์แอร์เป่าหัวพังทุกรอบ วันหลังเข้ามาเรียนก็นั่งที่อื่น เลี่ยงไม่ได้ก็หาเสื้อที่มีฮู้ดหาหมวกมาใส่ เรามีปัญญาที่เกิดขึ้นว่าทำอย่างนี้ดี

หรือคนบางคนบอกว่ากินอย่างนี้ไม่ได้ถ้ากินอีกท้องเสียแน่ มันต้องรู้จักตัวเอง ของอย่างนี้ต้องค้นให้พบไม่ใช่มีชีวิตอยู่วันๆโดยที่ไม่รู้ว่าทำอย่างนี้ดีหรือไม่กับร่างกายเรา มันต้องคิดบ้าง วันนี้ทำไมกินอย่างนี้แล้วดูดี ทำมันง่วงจังต้องถอยไปถาม เราเข้าใจตัวเราเองถ้าปลูกฝังของอย่างนี้ตั้งแต่เด็ก คนก็จะป่วยน้อยลง อันนี้คือความสำคัญ สุขศึกษาสำคัญ ถ้าเรากินได่ทอดสามชิ้นจะเกิดอะไรต่อร่างกาย เด็กผู้หญิงจะเตี้ยลง เป็นประจำเดือนเร็วเนื่องจากฮอร์โมนตกค้างในไก่ นมโตเร็ว หลังจากนั้นจะโตอีกไม่เกินฟุต หลายบ้านลูกเตี้ยกว่าแม่ ทั้งๆที่เรามีของกินมากกว่าสมัยก่อน

พ่อแม่ต้องดูว่าจะเลี้ยงลูกให้ร่างกายแข็งแรง ไม่ใช่จะเลี้ยงลูกให้เขาเรียนหนังสือเก่งเรียนเก่งแต่ตัวเล็กเอาไหม การวางทัศนคติ การรู้จักตัวเอง เรียนรู้ที่จะรู้จักอาหาร เข้ามาเป็นความรู้ประจำตัวเป็นสิ่งสำคัญ คนสำคัญเราต้องพัฒนาคน

คนจะต้องดูแลตัวเอง ต้องตั้งใจ นอกจากดูแลตัวเองแล้วต้องรู้จักจัดการกับอารมณ์ ความคิด ความกังวล คนหลายคนมีความกังวลมากมาย กลัวอย่างนั้นอย่างนี้ กังวลร้อยเรื่องไม่เป็นจริงซักเรื่อง กลัวฝนตกตอนเย็นกลัวทำไมถ้าจะตกก็ต้องตก ก็หาทางป้องกันเอาร่มมาวางแผน กลัวรถติดไปกลัวทำไม เดี๋ยวจะไปตรงนั้นตรงนี้ไม่ได้ ก็ศึกษาวางแผนเปลี่ยนเส้นทาง แผนหนึ่งแผนสอง นอกจากสุขภาพกายดีแล้ว

คนที่จะมีปัญหาเกี่ยวกับโรคสมองคือเรื่องของอารมณ์ เราพบว่าคนที่ภาวะสมองไม่ดีหลายคนเกี่ยวข้องกับการมีอารมณ์เศร้าตั้งแต่วัยเด็ก

มีชีวิตที่เจ็บปวดลำบาก แต่เมื่อเวลาผ่านไปแล้วยังไม่ไปล่อยมัน ยังเศร้ายังเสียใจ คับแค้นใจน้อยใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลาทำให้จิตเป็นลบ

ทำให้ลดศักยภาพในการเรียนรู้ของคน แทนที่เราจะไปเปิดอารมณ์ว่าวันนี้สว่างดีแจ่มใส โอกาสฝนตกน้อยกลับไม่เคยสังเกตเลย แต่มีความรู้สึกว่าอันนี้ชีวิตเรามันลำเค็ญนะ ไม่ต้องเอาของพวกนี้ขึ้นมา อะไรที่ไม่ดีเก็บมันลงไปแล้วก็ดูซะใหม่ เราจะแก้ยังไงคิดไปทางบวก ที่สำคัญที่อาจารย์

เจอคนชอบเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น มันแย่มากเลย เรามีของดีกว่าคนอื่นตั้งเยอะทำไมต้องไปเปรียบเทียบกับคนอื่น เรามีของบางอย่างที่ดีกว่า โดยเฉพาะเปรียบเทียบวัตถุ บ้านหลังใหญ่กว่า รถใหญ่กว่า เมียสวยกว่า เมียเรียนเก่ง บุญมันคนละแบบวาสนาคนละแบบ

เราจะเสริมพลังอำนาจประชาชนอย่างไร ให้เขารู้จักเรื่องของการดูแลตัวเอง การทำวิถีชีวิตให้ดีแล้วต่อไปก็จะเป็นผู้สูงอายุที่ไม่ป่วย ตามสโลแกนของอาจารย์ อยู่สบาย ตายสงบ งบไม่บาน เมื่ออายุ 100 ปี เราจะอยู่ถึงตรงนั้น แต่เราจะอยู่แบบสบาย หมายถึงรู้เรื่องรู้ราวไปเที่ยวก็สนุก ไปตรงนั้นตรงนี้ก็สนุก กินอะไรก็อร่อย จำได้ว่ากินอะไรเข้าไป ไม่ใช่ไปเซอะซะหาทางกลับบ้านไม่ถูก อยู่สบายถึงเวลาตายก็สงบไม่ต้องยากลำบาก ไม่ต้องเรียกรถหวอมา แล้วงบก็ไม่บาน ถ้ารู้ว่ามันป่วยด้วยโรคที่ต้องตาย เราทุกคนต้องตายอยู่แล้ว หากว่ามันจะต้องเป็นมะเร็งอะไรก็แล้วแต่ ให้มันพอดี ทำยังไงให้ไม่เจ็บปวดมาก ตายวันนี้กับอีกสามวันข้างหน้า ตายอีกสามวันข้างหน้าต้องใส่เครื่องอะไรก็ไม่เอา มันก็ต้องเตรียม เรื่องอย่างนี้ต้องเตรียมตัว ไม่งั้นจะทำให้ประเทศไปไม่ได้

line

ผศ.พญ. สิรินทร ฉันสิริกาญจน
อาจารย์ประจำสาขาวิชาเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

 

Text: วีร์วิศ

Credit: วารสาร Supalai@Home

Related posts:

You may also like...