วางแผนออมอย่างไรให้สุขใจในวัยเกษียณ – RETIREMENT SAVING TIPS

cover001

คงไม่เป็นจำเป็นต้องเกริ่นนำกันอีกแล้วว่า ชีวิตหลังเกษียณที่ปราศจากการเตรียมตัวที่ดีในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องการวางแผนทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพนั้นจะน่ากลัวอย่างไร เพราะเชื่อว่า เราต่างก็ได้ยินข้อมูลนี้ในแนวข่มขู่ ผ่านสื่อต่างๆรอบตัวมากเยอะแยะ จนบางทีฟังแล้วก็พาลกลัวชีวิตไปเลยก็มี แต่ครั้นจะบอกว่า ชีวิตที่ดีหลังเกษียณนั้นเป็นที่ได้มาง่ายๆ ก็ไม่ใช่ความจริง การเตรียมพร้อมอย่างมีสติ และการสร้างวินัยทางการเงินจึงเป็นเรื่องสำคัญ

เริ่มต้นที่ไหนดี – คำตอบคือ เริ่มต้นที่การพิจารณาต้นทุนชีวิตในปัจจุบันว่าอยู่ในระดับไหน แม้การวางแผนชีวิตหลังเกษียณจะเป็นเรื่องของอนาคต แต่การจะมีอนาคตที่ดีได้นั้นต้องเริ่มจากการมีปัจจุบันที่ดีก่อน เราจึงต้องตรวจสอบสถานะของตัวเองโดยการทำงบดุลส่วนบุคคลในปัจจุบันก่อนเป็นสิ่งแรก

งบดุลส่วนบุคคล คือ ตัวชี้วัดสถานะทางการเศรษฐกิจส่วนตัวของคุณ ณ ปัจจุบัน เพื่อให้รู้ว่า คุณมีความมั่งคั่ง หรือคุณเป็นคนรวยหรือจนแค่ไหน ด้วยสมการง่ายๆคือ ทรัพย์สิน – หนี้สิน = ความมั่งคั่ง

การทำงบดุล เริ่มจาก การสำรวจทรัพย์สินว่า ตอนนี้คุณมีทรัพย์สินหรือพูดให้เป็นทางการการคือ สินทรัพย์ (Assets) อะไรติดตัวอยู่จริงๆบ้าง หรือมีของสะสมราคาแพงอะไรที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินได้ โดยสิ่งนั้นต้องเป็นของคุณอย่างสมบูรณ์ นำมาประเมินตามมูลค่าตลาดดูว่า ถ้าคุณจำเป็นต้องปล่อยขายสินทรัพย์พวกนี้ จะได้เป็นเงินเท่าไร โดยแบ่งประเภทสินทรัพย์ออกเป็นแบบต่างๆ ได้แก่

  1. 1.           สินทรัพย์สภาพคล่อง หมายถึง เงินสด หรือ สิ่งที่มีค่าเท่ากับเงิน เปลี่ยนเป็นเงินได้ทันที มูลค่าไม่เปลี่ยนมาก
  2. 2.           สินทรัพย์ลงทุน หมายถึงทรัพย์สินที่เก็บไว้แล้วให้ผลตอบแทนงอกเงย ถือเป็นการลงทุน เช่น หุ้น ตราสารหนี้ กองทุน ประกันชีวิต รวมถึงพวกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และที่ดิน (แต่ไม่ใช่ที่ดินที่คุณปลูกบ้านอยู่)
  3. 3.           สินทรัพย์ใช้สอยส่วนบุคคล หมายถึงทรัพย์สินที่มีอยู่แต่ก็ต้องใช้ด้วย เช่น รถ บ้าน ของใช้ เครื่องประดับ ของสะสม สามารถเปลี่ยนเป็นเงินได้ในยามขัดสน อาจจะต้องยอมขายต่ำกว่าที่ซื้อมา แต่ก็ยังขายได้
  4. 4.           สินทรัพย์อื่นๆ หมายถึง ทรัพย์สินอื่นที่ไม่เข้าข่ายสามประเภทแรก เช่น ค่าลิขสิทธิ์ หรือหุ้นในธุรกิจ

สินทรัพย์ทั้งหลายที่ว่ามานี้ ไม่นับรวมรายได้จากการทำงานหรือรายได้ในอนาคต ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน เพราะคุณอาจตกงาน ป่วย พิการ หรือเจ๊ง  ห้ามเอาเงินในอนาคตหรือในฝันมานับเป็นสินทรัพย์อย่างเด็ดขาด เพราะมันไม่ใช่

หลังจากสำรวจสินทรัพย์แล้ว คนสำรวจจะเกิดอาการได้สองแบบ แบบแรกคือดีใจ คิดว่าตัวเองนี่รวยเป็นบ้า โดยมากจะเป็นพวกที่มีสภาพคล่องเยอะกับสินทรัพย์ลงทุนเยอะ ส่วนแบบที่สองคือหดหู่ เพราะมีสินทรัพย์ใช้สอยส่วนบุคคลเยอะ คือสมบัติบ้าเต็มบ้าน แต่เวลาขายต้องยอมปล่อยในราคาต่ำกว่าทุน แทบไม่มีอะไรที่จัดว่าเป็นสินทรัพย์ชั้นดีได้เลย

ลำดับต่อไปคือ การสำรวจหนี้สิน ขั้นตอนนี้มักทำให้เครียดหนักยิ่งกว่าขั้นตอนสำรวจสินทรัพย์ ก่อนอื่นต้องทำใจให้เข้มแข็งเอาไว้ และยอมรับความจริงให้ได้ หนี้สินแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ

  1. หนี้สินหมุนเวียน หมายถึงพวกค่าใช้จ่ายทั้งหลาย ซึ่งมีเงื่อนไขว่า ต้องจ่ายชำระภายใน 1 ปี เช่น พวกรายจ่ายประจำเดือน ค่ากิน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่าบ้าน ค่าบัตรเครดิต ค่าประกันสุขภาพ ค่าประกันชีวิต ค่าเทอม ฯลฯ
  2. หนี้สินระยะยาว หมายถึงหนี้ก้อนโตๆผ่อนยาวเกิน 1 ปี เช่น ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ หรือหนี้เงินกู้ที่ผ่อนนานกว่า 1 ปีถือเป็นหนี้ระยะยาว

พอสำรวจครบถ้วนทั้ง สินทรัพย์ และ หนี้สินแล้ว ก็เอามาเข้าสมการงบดุลเลย โดยเอา สินทรัพย์ ลบ หนี้สิน เราก็จะได้ผลลัพธ์ออกมาเป็น ความมั่งคั่งสุทธิ

กำหนดเป้าหมาย – พอคุณรู้ตัวเองดีแล้วว่า ตอนนี้มีสินทรัพย์หรือความมั่งคั่งในระดับตั้งต้นอยู่เท่าไหร่ คุณก็สามารถกำหนดได้ว่า ต้องหาเพิ่มเท่าไหร่ให้พอใช้ในอนาคต โดยกำหนดเป้าหมายที่ต้องการเอาไว้ ว่าคุณตั้งใจจะมีชีวิตยืนยาวต้องใช้เงินไปนานแค่ไหน เช่น คุณคิดว่าตัวเองจะมีอายุยืนยาวไปถึง 100 ปี แต่จะหยุดทำงานตอนอายุ 60 ปี นั่นหมายถึง คุณจะต้องมีเงินใช้ให้พอสำหรับระยะเวลา 40 ปีข้างหน้า

สมมุติว่า คุณต้องการใช้เงินเดือนละ 5 หมื่นบาท 1 ปี ต้องมี 6 แสนบาท เงินหรือสินทรัพย์ที่เป็นความมั่งคั่งในอนาคตที่คุณควรมีสำหรับชีวิตอีก 40 ปีหลังเกษียณ โดยยังไม่ต้องคิดเรื่องเงินเฟ้อ คือ ต้องมีอย่างน้อย 24 ล้านบาท

ระยะเวลาในหาเงิน+ออม – เมื่อรู้เป้าตัวเลขที่ต้องหาให้ได้แล้ว ก็มาพิจารณาว่า คุณจะมีเวลาสร้างสินทรัพย์หรือสะสมเงินให้ได้ขนาดนั้นในเวลากี่ปี สมมุติคุณเริ่มคิดเรื่องนี้ตอนอายุ 35 ปี ถ้าตั้งใจจะทำงานไปจนถึง อายุ 60 ปี นั่นหมายถึงคุณจะมีเวลาเก็บเงินราว 25 ปี … เฉลี่ยปีละ 960,000 บาท

ต้องหาเพิ่มเท่าไรจึงจะพอ – คำถามนี้จะมีคำตอบแบบง่ายๆ โดยเอา ตัวเลขความต้องการใช้เงินในอนาคต ลบด้วย ตัวเลขความมั่งคั่งในปัจจุบัน (ที่ได้จากการทำงบดุล) ถ้าตัวเลขความมั่งคั่งในปัจจุบันมีมากเท่าไหร่ ภาระในการหาเพื่ออนาคตก็จะยิ่งเบาลง

พิจารณาความสามารถในหารายได้ และความสามรถในการออม ณ ปัจจุบัน –  เราจะประเมินได้โดยการเอา ตัวเลขเงินที่หาได้แต่ละเดือน – ตัวเลขเงินที่ต้องใช้แต่ละเดือน = เงินออมในแต่ละเดือน ดังนั้น ถ้าโจทย์ของคุณคือต้องมีเงินเก็บเฉลี่ยขั้นต่ำปีละ 960,000 บาท คุณต้องเหลือเงินสำหรับออมให้ได้อย่างน้อยเดือนละ 80,000 บาท คิดแบบหยาบๆก็คือ ถ้าคุณเป็นคนอายุ 35 ปี ที่มีค่าใช้จ่ายประจำเดือนละ 100,000 บาท มีภาระในการออมเดือนละ 80,000 บาท = คุณควรมีรายได้ขั้นต่ำในปัจจุบันและในอนาคตการทำงานอีก 25 ปี ข้างหน้าไม่น้อยกว่าเดือนละ 180,000 บาท

คนที่จะบอกว่า ตัวเลขที่ประเมินเอาไว้นี้ เป็นไปได้หรือไม่ได้ มากไปหรือน้อยไป ก็คือตัวคุณเอง ไม่มีใครตอบแทนใครได้ เพราะคนแต่ละคนมีความสามารถในการหาเงินไม่เท่ากัน และมีรูปแบบการใช้ชีวิตที่มีราคาแตกต่างกัน

ถ้ารายได้ของคุณพอสำหรับทำตามแผนที่ว่านี้ไปได้ตลอดรอดฝั่ง คุณก็มีแนวโน้มจะมีชีวิตวัยเกษียณที่ค่อนข้างปลอดภัย แต่ถ้าคิดคำนวณแล้ว มีแววว่าจะเป็นไปไม่ได้ ก็ต้องพิจารณาว่า

  1. จะหารายได้เพิ่มจากทางไหน
  2. ลดสัดส่วนการใช้จ่ายและภาระหนี้สินในปัจจุบันเพื่อให้มีสัดส่วนเงินออมเพิ่มขึ้น
  3. หาช่องทางการลงทุนที่เพิ่มมูลค่าให้เงินออมและสินทรัพย์
  4. ปรับลดเป้าหมายในอนาคตให้มีขนาดเล็กลง … อันนี้เป็นทางเลือก แต่กระซิบว่า ไม่ควรทำอย่างยิ่ง !!!

เคล็ดไม่ลับสำหรับการออมที่มีประสิทธิภาพ คือ การแอบใส่ตัวเลขส่วนที่เป็นการออม หรือการลงทุนลงไปในฝั่งรายการค่าใช้จ่ายรายเดือนด้วย แล้วโปะเพิ่มอย่างจริงจังอย่างมีวินัย ทำให้ตัวเองรู้สึกเหมือนกำลัง “จ่ายหนี้” ใครสักคน แต่ข้อดีคือ เราเป็นหนี้ตัวเอง แถมเป็น “หนี้ดี” เสียด้วย ไม่ว่าจะเป็น เงินประกันชีวิต เงินลงทุนระยะยาว เงินซื้อสินทรัพย์ที่เป็นการลงทุน ฯลฯ เคล็ดไม่ลับนี้ เหมาะสำหรับคนจิตอ่อน ที่มักไปเกาะแกะเอาเงินออมหรือเงินในอนาคตมาใช้ ถ้าเราแอบเอามาใส่ฝั่งรายจ่ายซะ ให้ดูเหมือนไม่ค่อยมีเหลือเงินใช้ฟุ่มเฟือย ก็จะทำให้มีความปลอดภัยทางการเงินมากขึ้น ทำไปหลายๆปี อาจพบว่า ตัวเองรวยขึ้นกว่าเดิมแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว

ซึ่งขอบอกเลยว่า ความตกใจที่วันดีคืนดีมีเงินงอกขึ้นมาเยอะแยะนั้น ดีกว่าความตกใจที่จู่ๆ พบว่า มีหนี้งอกขึ้นมาก้อนโตอย่างมหาศาล ดังนั้นจึงควรให้ความสำคัญกับการวางแผนอนาคตทางการเงินที่ดีเสียแต่เนิ่นๆ เพื่อชีวิตที่มีความสุขในระยะยาว

When planning for retirement, the truth is that the earlier you start saving and investing, the better off you’ll be. You must start from examining your current wealth to understand your true financial status before making plan. Estimate your target amount of the money you would need for retirement years. If you want to stop working at 60 years old and plan to live to 100 years old, that means you must have enough money to live without working for 40 years. When you know how much you would need for your future, you can start making plan by examining your ability to make current income, your current monthly expenses budget, your saving potential and your time limitation for earning, saving and investing. Your current wealth could be a good help to reduce the burden for making income for both current living expenses and saving for the future. For those who currently do not have any personal wealth, you must start making it as soon as possible and try to avoid making debts for the sake of your own financial security.

 

Related posts:

You may also like...