วัตถุมงคลของไทย Thai Sacred Objects

amulet-815595_1920

การมีชีวิตอยู่ของคนเรานั้น นอกจากจะมีร่างกายจิตใจที่สมบูรณ์แล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่า บ่อยครั้งก็ต้องมีเรื่องราวความเชื่อหรือเรื่องของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่พึ่งทางใจเข้ามาเสริม และหนึ่งในสิ่งที่ได้รับความนิยมมาตลอดคือ  “วัตถุมงคล” ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติหรือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นตามความเชื่อ เพื่อให้เป็นสิริมงคล เกิดความเจริญต่อตนเองและครอบครัว ซึ่งแต่ละวัฒนธรรมในโลกไม่ว่าจะเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากเพียงใด ก็ยังมีความผูกพันกับเรื่องราวความเชื่อและสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติอย่างเหนียวแน่น ยกตัวอย่างเช่น กรณีทีมนักบินอวกาศและเหล่าผู้ปฏิบัติภารกิจของนาซาจะพากันเคี้ยวถั่วลิสงนำโชคขณะที่ปฏิบัติภารกิจส่งยานอวกาศไปนอกโลก ก็เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่บ่งบอกถึงความเชื่อในสิ่งที่อยู่นอกเหนือหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ แม้ถั่วที่กินจะไม่ถือเป็นวัตถุมงคลก็ตาม

เรื่องราวของวัตถุมงคลในประเทศไทย เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยโบราณ ยามที่เกิดศึกสงคราม หรือเมื่อเกิดเรื่องทุกข์ร้อนคับขัน เจ็บไข้ได้ป่วย จะมีพิธีเคารพสักการะขอพรจากครูบาอาจารย์ พระสงฆ์หรือบุคคลที่นับถือ เป็นการสร้างขวัญกำลังใจ โดยบุคคลผู้เป็นที่พึ่งทางใจของผู้คนก็จะมอบของที่ระลึกให้พกติดตัวไว้ ทำให้ผู้ที่ได้รับมีความเชื่อมั่น และยอมรับนับถือต่อเนื่องกันมา เมื่อบ้านเมื่อเปลี่ยนแปลงมีความเจริญขึ้น วัตถุมงคลได้พัฒนาขึ้นตามลำดับ เกิดเป็นเสื้อยันต์ เหรียญ รูปเคารพต่างๆ ฯลฯ แต่วัตถุประสงค์โดยส่วนใหญ่ก็ยังคงเดิม คือสร้างกำลังใจ และนำพาสิ่งดีงามมาสู่ชีวิตของผู้ที่ครอบครองบูชาวัตถุเหล่านั้น

ประเภทของวัตถุมงคล มีทั้งที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ เช่น เหล็กไหล เขากวางคุด เขี้ยวเสือกลวง ฯลฯ แต่ที่แพร่หลายกันส่วนมากจะเป็นวัตถุมงคลที่มนุษย์สร้างขึ้น โดยแบ่งออกตามวัตถุดิบในการสร้างเป็น 4 ประเภทได้แก่

  • วัตถุมงคลประเภทเนื้อดิน สร้างจากดินเหนียวผสมกับมวลสารต่างๆ เช่น พระพิมพ์ พระเครื่อง

  • วัตถุมงคลประเภทเนื้อผง สร้างจากผงปูนเปลือกหอยและผงพุทธคุณ

  • วัตถุมงคลประเภทเนื้อชิน สร้างจากมวลสารที่เป็นส่วนผสมของดีบุก ตะกั่ว โลหะธาตุต่างๆ เช่น ชินเงิน ชินตะกั่ว นวโลหะ ทองคำสำริด เงิน นาค ทองแดง ฯลฯ

  • วัตถุมงคลประเภทเขี้ยวงากระดูกไม้ เช่น หมากทุย ลูกประคำ ฯลฯ

นอกจากนี้ วัตถุมงคลของขลัง ยังมีการแบ่งตามประเภทการใช้ วัสดุ รูปแบบลักษณะและระดับชั้น เช่น

  • เครื่องคาด ได้แก่ เครื่องรางที่ใช้คาดศรีษะ คาดเอว คาดแขน ฯลฯ

  • เครื่องสวม ได้แก่ เครื่องรางที่ใช้สวมคอ สวมศีรษะ สวมแขน สวมนิ้ว ฯลฯ

  • เครื่องฝัง ได้แก่ เครื่องรางที่ใช้ฝังลงไปในเนื้อหนัง เช่น เข็มทอง ตะกรุดทอง ตะกรุดสาลิกา การฝังเหล็กไหล

  • เครื่องอม ได้แก่ เครื่องรางที่ใช้อมไว้ในปาก เช่น ลูกอม ตะกรุดลูกอม

และยังแบ่งได้ตามตามรูปลักษณะและเพศ เช่น

  • ผู้ชาย เช่น รักยม กุมารทอง ฤาษี พ่อเฒ่า ชูชก ปลัดขิก ฯลฯ

  • ผู้หญิง เช่น นางกวัก แม่ศรีเรือน แม่ซื้อ ฯลฯ พระโพธิสัตว์ เช่น เสือ ช้าง วัว เต่า ฯลฯ

รวมถึงมีการจัดประเภทตามระดับชั้น ได้แก่

  • เครื่องรางชั้นสูง ได้แก่ เครื่องรางที่ใช้ส่วนสูงของร่างกายนับแต่ศีรษะลงมาถึงบั้นเอวสำเร็จด้วยพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ

  • เครื่องรางชั้นต่ำ ได้แก่ เครื่องรางที่เป็นมนต์ดำไม่ได้สำเร็จด้วยของสูง เช่น ปลัดขิก อีเป๋อหรือแม่เป๋อ

  • เครื่องรางที่ใช้แขวน เช่น ธงรูปนก กระบอกใส่ยันต์ ฯลฯ

จากการแบ่งประเภทของวัตถุมงคลตามที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น บ่งบอกให้เรารู้ว่า การจะครอบครองหรือนำวัตถุมงคลชิ้นใดมาบูชานั้น ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจและพิธีการที่ถูกต้องเหมาะสม ไม่เช่นนั้น สิ่งที่จะเป็นสิ่งมงคลอาจกลายเป็นอัปมงคลหรือนำโชคร้ายมาสู่ผู้ครอบครองได้ โดยวัตถุมงคลที่นิยมของคนไทย ได้แก่

  • พระเครื่อง สร้างขึ้นตามคติพุทธศาสนา เป็นพระพุทธรูป รูปของพระภิกษุทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่หรือล่วงลับไปแล้วที่เคารพนับถือ โดยทั่วไปมีขนาดเล็กพกติดตัวได้ อาจสร้างเป็นพระพิมพ์ พระพิมพ์ดินเผา หรือทำด้วยโลหะและโลหะผสม หล่อด้วยกรรมวิธีแบบโบราณ นอกจากนี้ยังรวมถึงเหรียญพระเครื่องโลหะที่ทำขึ้นตามกรรมวิธีสมัยใหม่ เรียกกันว่า เหรียญปั๊ม เชื่อกันว่าพระเครื่องจะช่วยคุ้มครองป้องกันอันตราย ช่วยให้เจริญในหน้าที่การงาน

  • นางกวัก มีรูปลักษณะเป็นสตรีไทยสมัยโบราณ ผมยาวประบ่า ห่มผ้าสไบเฉียง นุ่งผ้ายกดอก ประกอบด้วยพาหุรัด ทองกร สร้อยสังวาล นั่งพับเพียบอยู่บนแท่นทอง หัตถ์ขวายกงอขึ้นในลักษณะท่ากวักมือ หัตถ์ซ้ายส่วนมากจะถือถุงเงินและจารึกอักขระขอม คนไทยเชื่อว่า นางกวัก ให้โชคลาภทางการค้าขาย เรียกลูกค้าเข้าร้าน เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำหรับพ่อค้าแม่ค้า

  • ผ้ายันต์ มีขนาดเท่ากับผ้าเช็ดหน้าหรืออาจใหญ่กว่าเล็กน้อย ทำด้วยผ้าฝ้าย ผ้าลินิน มีสีขาว สีแดง และสีเหลือง สร้างโดยพระเกจิอาจารย์ผู้มีอาคมเข้มขลัง บนผ้ายันต์มีลวดลายและเขียนเป็นอักษรคาถาตามแบบของอาจารย์แต่ละท่านไม่ซ้ำกัน คุณสมบัติ ด้านคงกะพัน เมตตามหานิยม มหาเสน่ห์ ปัจจุบันพัฒนามาเป็นการพิมพ์ลายแทนการเขียนด้วยมือ และทำเป็นเสื้อกั๊กอีกด้วย

  • ปลาตะเพียน เป็นเครื่องหมายแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของคนไทย สมัยโบราณนิยมเอาใบลานมาสานขัดกันเป็นปลาตะเพียนจำลองหลายขนาด แล้วจับผูกกันเข้าเป็นพวง ใช้เป็นเครื่องแขวนเหนือเปลนอนของเด็กอ่อน เพื่อให้เป็นสิ่งมงคลแก่เด็ก ปลาตะเพียนยังได้ทำขึ้นเป็นเครื่องรางในทางเมตตามหานิยม โดยเฉพาะเป็นมงคลในการค้าขาย ใช้แขวนตามหน้าประทุนเรือค้า หน้าร้านค้า เพื่อให้ค้าขายดี

ผู้ที่นับถือครอบครองหรือบูชาวัตถุมงคลจำนวนไม่น้อยที่เชื่อมโยงเรื่องของวัตถุมงคลกับความเชื่อทางพุทธศาสนา ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว การบูชาวัตถุมงคลหรือการนับถือไสยศาสตร์นั้นเป็นสิ่งที่เรียกว่า อวิชชา เพราะศาสนาพุทธนั้นมุ่งเน้นในการสร้างความตื่นรู้ ไม่ยึดติด หรือเชื่อในสิ่งที่ไม่เป็นเหตุเป็นผล การบูชาวัตถุมงคลจึงไม่มีอยู่ในคำสอนของพุทธศาสนา แต่สิ่งเหล่านี้ได้ถูกยึดถือให้ความเคารพสำหรับผู้คนที่เรียกตัวเองว่าชาวพุทธ ที่มีความเชื่อส่วนบุคคล ในฐานะที่เป็นเครื่องเตือนใจหรือยึดเหนี่ยวจิตใจให้ปฏิบัติคุณความดี ละเว้นความชั่ว รักษาศีล เพื่อจะได้เกิดสิริมงคลกับผู้ครอบครอง ซึ่งผู้ที่บูชาวัตถุมงคลเพื่อส่งเสริมการปฏิบัติดีงาม และสร้างขวัญกำลังใจจึงไม่ถือเป็นความผิดอะไร ตราบใดที่คนยังเดือดร้อนไม่มั่นคง และวิทยาศาสตร์หาคำตอบไม่ได้ วัตถุมงคลคงอยู่คู่กับสังคมไทยไปอีกนานเท่านาน อีกทั้งวัตถุมงคลจำนวนไม่น้อยยังเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของแต่ละสังคมที่สืบต่อกันมา จัดว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง

Sacred objects are things that occur naturally or man-made according to beliefs to bring prosperity and prosperity to oneself and family. Each culture in the world, no matter how advanced the technology is. There is still a strong connection with the story of belief and sacred things. Thai sacred objects have their origins in ancient times. In times of war, suffering, and sickness, people have ceremonies to pay homage to monks or their respected people to boost morale. Respected people give things sacred to people to promote their confidence in doing things.

อ้างอิง : https://rayaproductsgroup.com/

พระเครื่อง พระธรรม : วารสารพุทธจิตวิทยา ปีที่ 4 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2562) ผู้เขียน :ชายะ มัณฑนาจาร

http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=7739.0;wap2

https://www.sanook.com/horoscope/2277/

https://www.lenyajewelry.co.th/

เครดิตรูปภาพ: https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/en/the-sacred-objects/

Related posts:

You may also like...