Friendly design / กฤษณะ ละไล

ไม่ได้คิดถึงสิทธิเสรีภาพ ไม่ได้คิดอารยะสถาปัตย์ ไม่ได้คิดถึง friendly design ซึ่งผมก็คิดว่าถ้าผมไม่เป็นแบบนี้ ผมก็คงไม่มาทำแบบนี้หรอก ในฐานะปุถุชนนะ อย่างที่ว่ากันว่า ‘ชนชั้นใดร่างกฎหมายก็แน่ไซร้เพื่อชนชั้นนั้น’

ผมมองสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองในแง่วิกฤตเป็นโอกาสนะ

โดยคิดว่าไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว ถ้าเป็นเมื่อก่อนตอนที่ร่างกายยังดี เราก็คงไม่สนใจ ผู้พิการหรือผู้สูงอายุนัก พอเห็นคนกลุ่มนี้เราก็คิดอยู่ 2 อย่าง คือ ขายหวย ไม่ก็ขอทาน ไม่ได้คิดไปไกลกว่านี้ 

นี่คือคำกล่าวของ กฤษณะ ละไล พิธีกรอารมณ์ดีบนรถเข็นผู้มีสายสัมพันธ์แข็งแกร่งกับบุคคลสำคัญของประเทศถ้วนทั่วทุกสาขา ตัวตนของเขากลายเป็นภาพที่แจ่มชัดในความทรงจำของคนไทยทั้งประเทศ ซึ่งแม้ว่าการทำงานบนวีลแชร์จะไม่ใช่เหตุผลของความโดดเด่นในวิชาชีพ หากเป็นเพราะความแตกต่างของการนำเสนอข่าวที่สร้างสีสันใหม่ๆให้วงการโทรทัศน์ แต่ใครเล่าจะปฏิเสธว่าภาพที่แตกต่างนั้นก็เป็นโอกาสที่ทำให้ง่ายต่อการจดจำ กฤษณะ ละไล เป็นทั้งคนข่าวตัวจริงที่เป็นขวัญใจผู้ชมทั่วประเทศ และเป็นผู้บุกเบิกเส้นทางแห่งโอกาสสำหรับสิทธิและความเทียมเพื่อผู้พิการและด้อยโอกาสในสังคมไทย และมาถึงวันนี้ กฤษณะ ก็ได้พบว่า โอกาสแท้จริงที่ซ่อนอยู่หลังวิกฤตของเขาในครั้งนั้น ไม่ใช่แค่เพื่อตัวเขาเอง แต่เป็นโอกาสสำคัญที่จะสร้างปรากฏการณ์อันยิ่งใหญ่ให้เกิดขึ้นกับประเทศชาติ และนำพาให้เขาก้าวเข้ามาสู่บทบาทผู้นำแห่งการสร้างสรรค์สังคมไทยไปสู่ความเป็นสังคมอารยะ ในฐานะผู้จัดการโครงการทูตอารยสถาปัตย์ และประธานคณะทำงานอารยสถาปัตย์ไทยสู่ประชาคมอาเซียน

“ปัจจุบันผมได้มาทำเรื่อง ‘อารยะสถาปัตย์’ ซึ่งนำเสนอเรื่อง friendly design คือ หลักการออกแบบที่เป็นสากล เป็นมิตร เป็นธรรมกับคนทั้งมวล ที่เหมาะกับบุคลิกของประเทศไทย ผมก็ถือว่าเป็นการทำหน้าที่สื่อมวลชนที่เป็นประโยชน์ เป็นไลฟ์สไตล์ของปัจจุบันและอนาคต

“แรงบันดาลใจที่ทำให้มาทำเรื่อง อารยสถาปัตย์ เกิดขึ้นเพราะเราไปเห็นประเทศที่เจริญแล้ว ก้าวหน้าแล้วมากกว่าเรา อย่างเช่น ญี่ปุ่น ตอนร่างกายดีๆ ไม่เคยไปเลยนะ ทำงานตลอด จนกระทั่งเดินไม่ได้ ได้มาเจอคลับของคนใช้วีลแชร์เหมือนกัน เค้าก็บอกว่าญี่ปุ่นนี่ดีมาก เป็นสวรรค์ของคนนั่งวีลแชร์ ไปไหนก็สะดวกมาก เราก็เลยลองไป จึงได้เห็นว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว เจริญแล้วเป็นยังไง โดยเอามาตรฐานเรื่อง friendly design เป็นตัววัด เรื่องของการออกแบบบ้านเมือง ข้าวของ การบริการที่ทุกคนใช้ประโยชน์ได้ เข้าถึงได้ นี่คือความหมายของคำว่า อารยสถาปัตย์ ของผม

“หลังจากที่ผมมาทำเรื่องอารยสถาปัตย์ ผมสัมผัสได้ว่าคนที่แฮปปี้ที่สุดเลยคือคนแก่ ผมไปไหน ที่ผมเจอจะเรียกว่าแฟนคลับก็ว่าได้ มีแต่คนแก่ทั้งนั้น คนกลุ่มนี้เค้าขยัน เค้าเที่ยวเก่ง หมดภาระแล้ว แล้วยิ่งลูกหลานให้เงินเที่ยว ปัญหาใหญ่เลยคือห้องน้ำ การเข้าถึงโรงแรมที่พักที่ปลอดภัย ต้องสะดวก สะอาด สวยงาม

“ยังจำได้เลยนะวันแรกที่ไปญี่ปุ่น ได้ใช้ห้องน้ำแล้วรู้เลยนะว่าไทยเราอยู่ในระดับไหนของโลก ห้องน้ำญี่ปุ่นปกติก็ทำสะอาดอยู่แล้ว แต่ห้องน้ำวีลแชร์นี่โชว์เทคโนโลยี อุปกรณ์ต่างๆ แล้วเป็น friendly design for all นะ ไม่ใช่เฉพาะคนวีลแชร์เท่านั้น คนท้อง คนเจ็บ ผู้สูงอายุ ก็ได้ประโยชน์ด้วย นี่แหละอารยสถาปัตย์ ซึ่งหมายถึงการออกแบบของชนชาติที่เจริญแล้ว ประเสริฐแล้ว”

“การออกแบบบ้านสำหรับผู้สูงวัยยิ่งสำคัญ คนซื้อบ้านอาจไม่ได้คิด เพราะตอนซื้อยังมีแรง แต่พอแก่แล้วไม่มีแรง พื้นที่สมัยใหม่ต้องลงทุนนะ เผื่อคุณแก่ทำไง เผื่อคุณป่วยอีก”

“บ้านนี่ผมออกแบบเอง การทำทางเดินในบ้าน และการทำห้องน้ำสำหรับวีลแชร์ต้องกว้าง ให้ทุกจุดหมุนรถเข็นได้ เป็นประตูบานเลื่อน ต้องติดราวจับ ให้คนแก่ ญาติผู้ใหญ่ บ้านมี 2 ชั้นก็ติดลิฟท์เอา ใช้ชีวิตได้เหมือนบ้านทั่วไป แต่ต้องมีประตูทางลาด ผมออกแบบทางลาดวนไว้รอบบ้าน เพราะเวลาปลูกต้นไม้ก็ออกไปในสวนได้สะดวก เราต้องให้ความสำคัญกับ friendly design สูงมากกับการออกแบบแบบปกติ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ที่พัก เพื่อให้ทุกคนมีสิทธิ์ได้รับความสุขเท่าเทียมกัน”

 


Text: วีร์วิศ

Credit: วารสาร Supalai@Home

 

Related posts:

You may also like...