วิกฤตวัยกลางคน (Midlife Crisis) คืออะไร

pexels-photo-1057029

วิกฤตวัยกลางคน (อังกฤษ: midlife crisis) เป็นความเปลี่ยนแปลงของตัวตนและความมั่นใจที่สามารถเกิดขึ้นกับคนวัยกลางคนในช่วงอายุ 45-64 ปี ปรากฏการณ์ถูกอธิบายว่าเป็นวิกฤตทางจิตวิทยา ที่สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ซึ่งทำให้คิดถึง อายุที่มากขึ้น ความตายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป้าในหมายชีวิตที่ยังทำไม่สำเร็จ
สิ่งเหล่านี้อาจก่อให้เกิดความซึมเศร้า เสียดาย และกังวง หรือความต้องการที่จะกลับมาอ่อนเยาว์อีกครั้งหรือที่จะเปลี่ยนการใช้ชีวิตจากปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง

คำนี้ถูกคิดขึ้นโดย Elliott Jaques เมื่อ พ.ศ. 2508 งานวิจัยสมัยใหม่ชี้ว่าคนวัยกลางคนส่วนใหญ่ไม่ได้ประสบกับวิกฤตวัยกลางคนนี้ และหลายคนตั้งคำถามว่าปรากฏการณ์นี้มีอยู่จริงหรือไม่

อาการอาจเกิดขึ้นในคนอายุตั้งแต่ 45–64 ปี โดยวิกฤตวัยกลางคนคงอยู่ประมาณ 3–10 ปี ในผู้ชาย และ 2–5 ปี ในผู้หญิง วิกฤตวัยกลางคนอาจเกิดจากการแก่ตัวลงอย่างเดียว หรือ รวมกับความเปลี่ยนแปลงอย่างอื่น ปัญหา หรือ ความเสียใจเกี่ยวกับ:

  • การงาน อาชีพ (หรือ การตกงาน)
  • ความสัมพันธ์กับคู่สมรส (หรือ ความโสด)
  • ความที่ลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่ (หรือ การที่ไม่มีลูก)
  • การแก่ตัวลง หรือ การตายของพ่อแม่
  • ความเปลี่ยนแปลงของร่างกายซึ่งเป็นผลจากอายุที่มากขึ้น

วิกฤตวัยกลางคนสามารถส่งผลกระทบต่อผู้ชายและผู้หญิงในทางต่างกันเพราะสิ่งที่ทำให้เครียดนั้นต่างกัน ผู้ชายบางคนเข้าหาผู้หญิงที่เด็กกว่าซึ่งสามารถมีลูกได้ ไม่ได้เพียงเพราะต้องการมีบุตร โดยนักจิตวิทยาเรียกสิ่งนี้ว่าเป็นสัญชาตญาณมนุษย์ วิกฤตวัยกลางของผู้ชายส่วนใหญ่จะมาจากปัญหาในการงาน ส่วนผู้หญิงนั้นมักเกิดจากการประเมินหน้าที่ของตน

หนึ่งในลักษณะเฉพาะหลักของมุมมองวิกฤตวัยกลางคน คือ การที่คนสันนิษฐานว่าเหตุการณ์ต่าง ๆ (มักเป็นแง่ลบ) จะเกิดขึ้นเมื่อเขาเข้าวัยกลางคน และมักนำไปสู่ความเครียด

บุคคลที่กำลังอยู่ในวิกฤตวัยกลางคนอาจรู้สึก:

  • เศร้าเสียใจกับจุดหมายที่ยังทำไม่สำเร็จ
  • กลัวที่จะเสียหน้าต่อเพื่อนร่วมงานซึ่งประสบความสำเร็จมากกว่า
  • ต้องการที่จะรู้สึกอ่อนเยาว์
  • ต้องการใช้เวลาอยู่คนเดียวหรืออยู่กับเพื่อนบางคนมากขึ้น
  • มีความต้องการทางเพศที่สูงขึ้น หรือ ไม่มีเลย
  • เบื่อหน่าย งงงวย ไม่พอใจ หรือ โมโห กับคู่สมรส การงาน สุขภาพ การเงิน หรือ สถานะทางสังคม
  • ต้องการที่จะแก้ไขข้อผิดพลาดที่เคยทำในสมัยก่อน

การรักษาและการป้องกัน
ความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพที่มักเกิดขึ้นในช่วงวัยกลางคนได้แก่ น้ำหนักที่เพิ่มขึ้น ริ้วรอย ผิวหนังเหี่ยว ผมร่วง การออกกำลังกายเป็นประจำและการรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงอาจช่วยคงสุขภาพทางกายและใจระหว่างช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ยังเยาว์อาจป้องกันการเกิดวิกฤตวัยกลางคน ตัวอย่างที่สนับสนุนทฤษฎีนี้มาจากงานวิจัยโดย Dr. Susan Krauss Whitbourne ที่พบว่าคนที่เปลี่ยนงานก่อนวัยกลางคนมีความเข้าใจต่อความแก่ตัวลงเมื่อเข้าสู่วัยกลางคน และยังมีแรงจูงใจที่จะไม่หยุดนิ่ง และมีความต้องการที่จะช่วยคนรุ่นใหม่มากกว่า

หลายคนไม่เชื่อว่าวิกฤตวัยกลางคนมีอยู่จริง งานวิจัยหนึ่งพบว่า 23% ของผู้เข้าร่วมอ้างว่าตัวเองเคยประสบกับ “วิกฤตวัยกลางคน” ทว่าเมื่อถามต่อกับพบว่า หนึ่งในสามของคนเหล่านั้น (8% ของทั้งหมด) บอกว่าวิกฤตที่พบนั้นเชื่อมโยงกับการที่รู้ตัวว่ากำลังแก่ลง

15% ของคนที่ตอบแบบสอบถามเคยประสบเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เช่น การหย่า หรือ การตกงานในวัยกลางคน และเรียกสิ่งเหล่านี้ว่าเป็น “วิกฤตวัยกลางคน” แม้เหตุการณ์เหล่านี้จะทำให้บอบช้ำทางจิตใจ ความเศร้าโศกที่ตามมาอาจคล้ายกับอาการของโรคซึมเศร้า


Credit: https://th.wikipedia.org/

Related posts:

You may also like...