การหย่าร้างในวัยกลางคน

ภาพยนตร์เรื่อง The Bucket List มีเนื้อหาเกี่ยวกับคนชราสองคนที่ป่วยด้วยโรคร้าย ทั้งสองตัดสินใจเขียนรายการสิ่งที่อยากจะทำก่อนตาย แต่ยังไม่เคยได้ทำในชีวิต เช่น เที่ยวรอบโลก ผจญภัย
ในโลกแห่งความเป็นจริง The Bucket List นี้รวมไปถึงการที่สามีภรรยาหย่ากันหลังจากที่อยู่กันมากกว่า 30 กว่าปีด้วย


ปัจจุบัน กระแส Silver Splitter หรือการหย่าร้างในกลุ่มคนวัยกลางคนและผู้สูงอายุกำลังเพิ่มมากขึ้น

ตามสถิติของอังกฤษ ในปี 2011 มีคนอายุเกิน 60 ปีหย่าร้าง 15,300 ราย เพิ่มขึ้นกว่าเมื่อ 20 ปีก่อนหรือในปี 1991 ที่มีเพียง 8,700 รายเท่านั้น


คาริน วอล์กเกอร์ ทนายจากบริษัทกฎหมาย KGW Family Law ที่ให้คำปรึกษาและช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่คู่แต่งงานสูงวัย ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีว่า ปัจจุบัน คนวัยทองนิยมตั้งคำถามกับตัวเองว่าจะทำอะไรในช่วงบั้นปลายของชีวิต หลายคนอยากไปปีนเขา ท่องเที่ยว หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่ยังไม่มีโอกาสได้ทำตอนเป็นหนุ่มสาว เพราะคู่แต่งงานห้ามไว้เมื่อหลายสิบปีก่อน

ยิ่งปัจจุบัน คนเรามีอายุยืนขึ้นกว่าเดิม คนวัยทองยิ่งไม่อยากแก่ตายไปเฉยๆ หรือต้องมามีภาระดูแลคู่ในยามแก่เฒ่าอีก 20-30 ปีข้างหน้า ดังนั้น วัยเกษียณอายุ ซึ่งหมดภาระการงานและการดูแลลูกๆ จึงเหมาะสมที่สุดในการหย่าร้าง


อีกปัจจัยที่สำคัญ คือคนวัย 60 ของยุคนี้ เกิดในยุคเบบี้บูม เป็นคนรุ่นทำงานหนัก เก็บเงิน มีทรัพย์สินเป็นของตัวเอง เมื่อเกษียณอายุก็มีเงินบำนาญใช้จ่ายอย่างสะดวกสบาย ดังนั้น หากหย่ากับสามี หรือภรรยา ก็ไม่ลำบาก

การหย่าร้างของคนวัยทอง ผู้หญิงมักเป็นฝ่ายเริ่มก่อนเป็นส่วนใหญ่


ประเทศญี่ปุ่น มีปรากฏการณ์นี้เช่นกัน เรียกว่า Retired Husband Syndrome หรือโรคสามีวัยเกษียณ

คาดการณ์ว่าผู้หญิงญี่ปุ่นอายุเกิน 60 ปีที่แต่งงานแล้ว กว่า 60 เปอร์เซ็นต์เจ็บป่วยด้วยอาการซึมเศร้า ความดันโลหิตสูง และปวดท้อง ซึ่งสืบเนื่องมาจากความเครียด

สาเหตุของความเครียด มาจากวัฒนธรรมครอบครัวของคนญี่ปุ่น ที่สามีทำงานนอกบ้าน ออกจากบ้านตั้งแต่เช้าครู่และกลับบ้านมืดค่ำ ส่วนภรรยาดูแลบ้าน กว่าจะได้คุยหรือเจอหน้ากับสามีในแต่ละวันก็มีไม่มาก

ตอนอยู่ในวัยทำงานก็ดำเนินชีวิตไปตามปกติ แต่เมื่อสามีเกษียณอายุและกลับมาอยู่บ้านทั้งวัน ภรรยาญี่ปุ่นเริ่มรู้สึกว่าตนเองกำลังใช้ชีวิตกับคนแปลกหน้า แถมยังต้องปวดหัวมากขึ้นกับการที่ต้องปรนนิบัติสามีทั้งวัน จากที่เจอหน้ากันแค่เช้าเย็น เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงบางส่วนตัดสินใจหย่าจากสามี แต่บางส่วนก็เผชิญปัญหาทางการเงินเพราะไม่มีสิทธิในเงินบำนาญสามี


ทนายคาริน วอล์กเกอร์ บอกว่าการหย่าร้างน่าจะเป็นทางออกที่ดียามที่คู่รักสูงวัยเริ่มรู้สึกไม่เหมือนเดิม แต่ก็ต้องแลกมาด้วยอะไรบางอย่าง หนึ่งในนั้นคือความสัมพันธ์กับลูกๆ เพราะลูกที่โตแล้วจะเลือกเข้าข้างพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่ง และเห็นว่าอีกคนเป็นฝ่ายผิด ไม่เหมือนกับการหย่าร้างกันขณะที่ลูกยังเด็ก จะทำให้ลูกรู้สึกดีกับพ่อแม่ได้มากกว่า เพราะการรับรู้และความทรงจำของครอบครัวที่มีพ่อแม่ลูกอยู่ด้วยกันยังมีไม่มาก

เอสเทอร์ แรนเซ่น ผู้ก่อตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาผู้สูงอายุ Silver Line บอกว่าความเหงาและค่านิยมของสังคมที่ว่า “อยู่ด้วยกันจนวันตาย” ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คู่สมรสวัยทองตัดสินใจอยู่ด้วยกันต่อไปทั้งที่มีปัญหา

ขณะเดียวกัน หลายคนก็ตัดสินใจว่า หย่าดีกว่า เพราะคำนวณแล้วว่าคุ้ม แทนที่จะต้องทนกับคู่ แต่หันไปเดินหน้าสานต่อ The Bucket List ให้สำเร็จ เพื่อให้ได้นอนตายตาหลับเสียยังจะดีกว่าเป็นไหนๆ

****************
แปล/เรียบเรียง: พงศธร สโรจธนาวุฒิ
มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.)

http://www.whaf.or.th/

Related posts:

You may also like...