เช็ค 5 สัญญาณเสี่ยงโรคต้อกระจก เลี่ยงภาวะตาบอด

การเตรียมพร้อมเข้าสู่วัยเกษียณด้วยการดูแลและตรวจสุขภาพอย่างเป็นประจำ นับเป็นสิ่งที่จำเป็นและส่งผลดีอย่างยิ่ง เนื่องจากภาวะเสื่อมถอยของร่างกายก็อาจเป็นบ่อเกิดของภาวะเสี่ยงต่อสุขภาพที่มากมาย รวมไปถึงโรคต้อกระจกซึ่งเป็นปัญหาทางสายตาที่พบได้มากในกลุ่มวัยเกษียณ ซึ่งหากปล่อยไว้อาจกลายเป็นสาเหตุของภาวะตาบอดได้ จากการสำรวจพบว่ามีจำนวนถึง 42% ของผู้มีภาวะตาบอดมีสาเหตุมาจากภาะวะต้อกระจก

พ.ต.อ.นายแพทย์ คำนูณ อธิภาส จักษุแพทย์ นวตา จักษุคลินิก

พ.ต.อ.นายแพทย์ คำนูณ อธิภาส จักษุแพทย์ กล่าวว่า โรคต้อกระจก มักมาพร้อมกับอายุมากที่ขึ้น นับเป็นความเสื่อมอย่างหนึ่งเกี่ยวกับร่างกายเรา โดยเป็นการเปลี่ยนแปลงของเลนส์แก้วตาที่ช่วยในการมองเห็นซึ่งจะมีลักษณะตัวเลนส์ที่นิ่มมากเมื่ออยู่ในวัยเด็ก แต่เมื่อเริ่มมีอายุที่มากขึ้น เลนส์แก้วตาจะค่อยๆ แข็งขึ้น เกิดความไม่สม่ำเสมอ จนเกิดความขุ่นมัวในเนื้อเลนส์ และส่งผลต่อการมองเห็นมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ยังสามารถเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ ได้ เช่น ผลข้างเคียงจากการใช้ยา สารสเตียรอยด์ สารพิษ ประสบอุบัติเหตุ และ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน อาทิ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน และ ไทรอยด์

โรคต้อกระจก จะค่อยๆ เกิดขึ้น โดยใช้ระยะเวลาในการเปลี่ยนแปลงของเลนส์ตาจนกระทั่งตาขุ่นมัว จึงอาจทำให้คนทั่วไปไม่ทันได้ตระหนักถึงอาการเริ่มต้นของโรคต้อกระจก ซึ่งส่งผลร้ายต่อการมองเห็นได้ ดังนั้นผู้ที่อยู่ในภาวะเสี่ยงอย่างผู้ที่เข้าสู่วัยเกษียณ หรือบุคคลใกล้ชิด จึงควรตรวจสอบตนเองรวมถึงบุคคลใกล้ตัวถึงอาการ 5 สัญญาณเสี่ยงโรคต้อกระจก ดังนี้

  1. ตาค่อยๆ มัวลง อย่างช้าๆ โดยไม่มีอาการเจ็บปวดใดๆ  อาจเริ่มมีอาการที่มัวลงภายในช่วงเวลาสั้นเพียง 2 – 3 เดือน หรือถึงมากกว่า 10 ปีในบางราย
  2. สายตากลับ มีอาการเปลี่ยนแปลงด้านการมองเห็นอย่างเห็นได้ชัดเจน เช่น จากเดิมสายตายาวแล้วเปลี่ยนเป็นสายตาสั้น หรือเกิดสายตาเอียงขึ้น
  3. เห็นแสงแตกกระจาย เมื่อใช้สายตามองแสงแล้วจะเห็นมีลักษณะเป็นเส้นๆ เป็นแฉกๆ หรืออาจดูมีภาพซ้อน
  4. ความสามารถในการมองเห็นในที่มืดลดน้อยลง ต้องการแสงสว่างที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะพบบ่อยๆ ในกลุ่มคนสูงวัยมากๆ
  5. ต้อกระจกบางชนิดจะมองเห็นในที่มืดชัดกว่าที่สว่าง เนื่องจากมีความขุ่นมัวเฉพาะส่วนกลางของเลนส์ตา  ซึ่งในที่สว่างนั้นรูม่านตาจะมีขนาดเล็ก เวลาใช้สายตาก็จะมองผ่านเฉพาะส่วนที่ขุ่นมัวนั้น แต่ในที่มืดรูม่านตาจะขยายกว้างขึ้นการมองเห็นก็จะดีขึ้น มักพบในคนที่ป่วยเป็นโรคต้อกระจกจากผลกระทบของโรคเบาหวาน ใช้ยาสเตียรอยด์ด้วยการรับประทาน หรือหยอดตามาเป็นเวลานานๆ

หากมีอาการน่าสงสัยเพียงข้อใดๆ ข้อหนึ่ง ก็ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจเช็คอย่างละเอียด และรับการรักษาได้อย่างทันท่วงที เนื่องจากความก้าวหน้าในทางการแพทย์ปัจจุบันที่สามารถรักษาผู้ป่วยได้อย่างหลากหลายรูปแบบ ทั้งการสวมแว่นตา การใช้ยาหยอดตาในกรณีที่ยังไม่มีอาการรุนแรงมาก รวมไปถึงการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์แก้วตา ที่ทำได้อย่างง่ายดายมากยิ่งขึ้น ดังเช่น การสลายต้อกระจกด้วยระบบอัลตราซาวน์ ที่ช่วยทำให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กเพียง 2-3 มิลลิเมตร ผู้ป่วยจึงไม่ต้องใช้เวลาพักฟื้นนาน แผลสามารถสมานตัวเองได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งแตกต่างจากเดิมที่จะรักษาด้วยการผ่าตัดลอกต้อกระจก ทำให้มีแผลใหญ่และยาวเกือบ 1 เซนติเมตร จนส่งผลให้แผลหายได้ช้าลง หรือมีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น เฟมโตเซคเคินเลเซอร์ และนาโนเซคเคินเลเซอร์เข้ามาช่วยในการผ่าตัดร่วมด้วย

นอกเหนือจากการรักษาด้วยการผ่าตัดนั้น การเลือกใช้เลนส์แก้วตาเทียมสำหรับการผ่าตัดก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ผู้ป่วยควรให้ความสำคัญและมีความรู้เบื้องต้น เนื่องจากเลนส์แก้วตาเทียมมีหลากหลายชนิด ซึ่งผู้ป่วยสามารถเลือกใช้ให้เหมาะสมกับการลักษณะการใช้ชีวิตประจำวันหรือแม้แต่เหมาะกับปัญหาทางสายตาเดิมของตนเอง เช่น หากมีสายตาสั้นมากๆ เมื่อมีการผ่าตัด ก็จะสามารถใช้โอกาสนั้นเลือกใช้เลนส์แก้วตาเทียมชนิดหลายโฟกัส  ที่คำนวณค่าให้แสงตกโฟกัสให้ตรงจอประสาทตาพอดี จึงสามารถช่วยแก้อาการสายตาสั้นให้ดียิ่งขึ้นได้ หรือสายตาเอียงมากๆ อันมาจากผิวกระจกตาไม่กลม ก็สามารถใช้โอกาสการผ่าตัดนี้ในการเลือกเลนส์แก้วตาเทียม ที่สามารถชดเชยและแก้สายตาเอียงได้อีกด้วย

“ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงสำคัญต่อโรคเกี่ยวกับสายตาได้ง่าย จึงควรรับการการตรวจตาอย่างน้อยปีละครั้ง หรืออาจเข้ารับการตรวจที่เร็วขึ้นหากว่าอยู่ในกลุ่มความเสี่ยงอื่นๆ เช่น เป็นผู้ป่วยเป็นเบาหวาน และ ไทรอยด์ หรือใช้ยาสเตียรอยด์บ่อยครั้ง เป็นต้น ซึ่งหากรู้ปัญหาทางสายตาได้เร็ว รักษาได้ทันเวลา ก็จะช่วยให้ทุกคนสามารถถนอมสายตาให้อยู่คู่ไปกับเราได้อย่างยาวนานยิ่งขึ้น” พ.ต.อ.นายแพทย์ คำนูณ กล่าวเพิ่มเติม

วรารัตน์ ผลาหาญ (อ้อ)

บริษัท สปาร์ค คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด (ในนามตัวแทนนวตา จักษุคลินิก)

โทร. 089 231 4263

อีเมล์ aor@spark.co.th

Related posts:

You may also like...