สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์

M_somdet

ที่ตั้ง: ถนนกำแพงเพชร 2 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กทม.

ขนาดพื้นที่: 140 ไร่

เวลาทำการ: 05.00 -18.30 น. ทุกวัน

ประเภทของสวน: สวนสาธารณะขนาดใหญ่ หรือสวนระดับเขต

รถประจำทาง: ถนนกำแพงเพชร 2 สาย 77, 122, 36, 145, ปอ. 23 / ถนนกำแพงเพชร 3, สาย 134, ปอ. 18

line

ประวัติความเป็นมา

สวนสาธารณะแห่งนี้บังเกิดขึ้นตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในปี 2534 โดยมอบให้กระทรวงคมนาคม จัดสร้างบนที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ด้านทิศใต้ของสนามกอล์ฟรถไฟ เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายในวโรกาส มหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถรอบ 5 รอบในวันที่ 12 สิงหาคม 2535 ในส่วนการหาทุนสมทบและทุนในการดูแลสวนระยะยาว มูลนิธิสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เป็นผู้รับไปดำเนินการ โดยได้รับการสนับสนุนจากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ ในสังกัดกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานเอกชน ซึ่งโครงการระยะที่ 1 พื้นที่ 140 ไร่แล้วเสร็จและส่งมอบให้กรุงเทพมหานครดูแลตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2538 และมีพิธีเปิดเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2539 สำหรับโครงการระยะที่ 2 มีพื้นที่ 60 ไร่ จะดำเนินการต่อไป

 

ลักษณะเด่นและจุดที่น่าสนใจในสวน

” สวนป่า” คือ ลักษณะที่กำหนดสำหรับสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯเพื่อพัฒนาให้เชื่อมโยงต่อเนื่อง ทั้งลักษณะทางกายภาพและสุนทรียสัมผัสกับสวนวชิรเบญจทัศและสวนจตุจักรที่อยู่ติดกัน นำมาซึ่งพื้นที่สีเขียวในเมืองที่กว้างไพศาล คืนธรรมชาติแก่สิ่งมีชีวิต และสร้างคุณค่าต่อสิ่งแวดล้อมในนามของ ” อุทยานการเรียนรู้จตุจักร ” โดยนำเสนอแนวคิดหลักในการเป็นสวนพฤกษศาสตร์ ที่สมบูรณ์แห่งหนึ่งในประเทศไทย

สระน้ำ สร้างเป็นจุดเด่นของสวนที่สื่อความหมายในการเฉลิมพระเกียรติ ด้วยสระน้ำที่คดเคี้ยวเป็นรูปแบบอักษร ” ส” และ ” S” ผสานกัน สื่อถึงพระนามาภิไธยของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ แนวขอบสระเลือกปลูกพืชพันธุ์สร้างสีสันเน้นลักษณะอักษร ” ส”ให้โดดเด่นด้วยสีเหลืองของดอกราชพฤกษ์ และ ” S” เน้นด้วยสีม่วงชมพูของดอกอินทนิลน้ำ

สวนพฤกษศาสตร์ เป็นกิจกรรมหนึ่งในอุทยานการเรียนรู้จตุจักร โดยเป็นแหล่งปลูกรวบรวมพันธุ์พืชท้องถิ่น ไม้ในพระนาม ไม้จากพระตำหนักต่างๆ และไม้ต่างประเทศที่น่าสนใจไว้มาก นำเสนอแหล่งความรู้ให้ศึกษาในรูปแบบเส้นทางชมธรรมชาติแวะชมตามจุดต่าง ๆ เช่น สวนกล้วยที่รวมไว้กว่า 70 ชนิด ลานลั่นทม ที่รวมพลแห่งดอกลั่นทมหลากสี ลานอโศกแหล่งชุมนุมของไม้ดอกยืนต้นที่ลือชื่อถึงความสวยงามนุ่มนวลสะดุดตา ลานเข็มอวดดอกละเอียด สีสันสดสวยตลอดปี ลานชบา รวมพันธุ์ชบาแปลกตามากมายไว้ให้ชม

ลานบัว ลานพักผ่อนตกแต่งด้วยบ่อเป็นรูปดอกบัวขนาดยักษ์ เป็นที่รวมพันธุ์บัวทั้งไทยและเทศ มีกระถางโบราณเก่าแก่ประดับลานและปลูกบัวชนิดต่าง ๆ และ สวนยุโรป ซึ่งอวดสวนแบบสวนประดิษฐ์ ด้วยแปลงไทรทองตัดแต่งลายบัวก้านขดอันวิจิตร สร้างเส้นนำสายตาเข้าสู่ลานบัว เกิดภาพเอกลักษณ์สง่างามเป็นหนึ่งเดียว

ย่านดาโอ๊ะ หรือ ต้นเถาใบสีทอง เป็นไม้หายากของไทยที่ค้นพบว่าเป็นพืชชนิดใหม่ของโลกพบได้เฉพาะน้ำตกบาโจ ในอุทยานแห่งชาติเทือกเขาบูโดสุไหงปาดี จ.นราธิวาส มีปลูกไว้ให้ชมความมหัศจรรย์แห่งธรรมชาติ นั่นคือใบที่มีขนปกคลุมคล้ายกำมะหยี่ และจะเปลี่ยนเป็นสีทองแดงเหลือบรุ้งในเดือนสิงหาคม-กันยายน และเป็นสีเงินในเดือนตุลาคม

ย่านลิเภา ไม้เถาซึ่งจัดเป็นเฟิร์นเลื้อย พบตามป่าเปิดหรือป่ากึ่งโปร่งเขตร้อน ที่มาของวัตถุดิบสำหรับศิลปหัตถกรรมงดงามเลื่องชื่อของไทย มีปลูกไว้ให้ ชมเช่นกัน

พิพิธภัณฑ์เด็กกรุงเทพมหานคร อาคารพิพิธภัณฑ์กิจกรรม หนึ่งในอุทยาน การเรียนรู้จตุจักร จัดเตรียมนิทรรศการ กิจกรรมให้ความรู้และนันทนาการ ผ่านขบวนการเรียนรู้เพื่อเด็ก แบ่งเป็น 8 ภาค (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในสวน วชิรเบญจทัศ)

สวนไม้มงคลพระราชทาน 76 จังหวัด ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงพิพิธภัณฑ์ เด็กกรุงเทพมหานครโดยจำลองแผนที่ประเทศไทยขนาดย่อมไว้ในพื้นที่ 4.8 ไร่ และ ปลูกไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด ตามตำแหน่งภูมิภาค ของแต่ละจังหวัด อย่างสอดคล้องกับความเป็นจริง พร้อมติดป้ายแสดงชื่อวิทยาศาสตร์ ชื่อสามัญของต้นไม้และชื่อจังหวัด ทางเดินชมจัดไว้เป็นเส้นทางสมมุติของถนนสายหลักได้แก่ ถนนพหลโยธิน ถนนเพชรเกษม ถนนมิตรภาพ ถนนสุขุมวิท ที่ เชื่อมต่อระหว่างภาคเหนือ ใต้ อิสาน และตะวันออก สถานที่แห่งนี้ เป็นแหล่งเรียนรู้ทั้งพรรณพืช และภูมิศาสตร์ได้เป็นอย่างดีในคราวเดียวกัน ซึ่งได้มีพิธีเปิดเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2544 โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (นายสมัคร สุนทรเวช) เป็นประธานพร้อมร่วมปลูกไม้มงคลประจำจังหวัด กรุงเทพฯ คือ ต้นไทรย้อยใบแหลม

line

แหล่งข้อมูล : สำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม

 

Related posts:

You may also like...