“บ้านพักผู้สูงอายุ” คำตอบที่ดีที่สุดสำหรับชีวิตบั้นปลาย…จริงหรือ ?

002

เป็นที่รู้กันอย่างกว้างขวางว่า โครงสร้างประชากรของประเทศไทยเรากำลังเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ สังคมผู้สูงอายุ โดยอ้างอิงจากข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติที่คาดการณ์ไว้ว่า ในปี พ.ศ. 2564 ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ โดยข้อมูลนี้วิเคราะห์จากฐานข้อมูลประชากรไทยในปี 2560 จากจำนวนประชากรรวม 67.6 ล้านคน แบ่งเป็น ชาย 33 ล้านคน หญิง 34.6 ล้านคน

.
ในจำนวนประชากรทั้งหมด 67.6 ล้านคนที่สำรวจเมื่อปี 2560  มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวน 11.3 ล้านคน คือ 16.7 % ของประชากรทั้งหมด วัยทำงานอายุ 15-59 ปี จำนวน 44.60 ล้านคน วัยเด็กต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 11.60 ล้านคน และมีผู้สูงอายุที่ยังทำงานอยู่ 3.9 ล้านคน ทั้งนี้สำนักงานสถิติแห่งชาติได้คาดการณ์ว่า การเติบโตของสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุ จะเพิ่มจาก 16.7% ในปี 2560 เป็น 20% ในปี 2564 และขยายตัวเป็นสัดส่วน 28 % ในปี 2574 นั่นหมายถึง จะมีผู้สงอายุมากกว่า 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศ

.
ข้อมูลนี้ทำให้เกิดความตื่นตัวขึ้นไม่มากก็น้อยในหลายแวดวง แต่ที่กำลังเป็นกระแสที่น่าจับตามองคือ การลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ประเภทที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งหมายถึงการย้ายประชากรผู้สูงอายุจากถิ่นที่อยู่เดิมมาอยู่ร่วมกันในสภาพแวดล้อมใหม่ เพื่อให้ง่ายต่อการดูแลและการจัดการในเรื่องสุขภาพและการบริการที่จำเป็นสำหรับผู้สูงอายุ

.
เชื่อกันว่า ทางเลือกนี้จะตอบสนองรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุได้ดีกว่าการอยู่ด้วยตัวเองในบ้านหลังเดิมที่ปราศจากผู้ดูแล หรือในครอบครัวที่ลูกหลานไม่พร้อมที่จะรับภาระในการดูแลผู้สูงอายุ เพราะบ้านพักสำหรับผู้สูงอายุจะเป็นชุมชนที่มีสาธารณูปโภคต่างๆพร้อมสรรพ ด้วยการออกแบบเพื่อรองรับการใช้ชีวิตยามชราได้อย่างสะดวกสบาย บางโครงการถึงกับเรียกว่าเป็น “เมืองวัยเกษียณ“  เพราะมีทุกอย่างให้ครบ นอกจากการออกแบบสถาปัตยกรรม และสิ่งแวดล้อมที่เป็น Universal design แล้ว ที่สำคัญยังมีแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ในส่วนต่างๆคอยให้ความดูแลช่วยเหลือให้อยู่ได้อย่างปลอดภัยไร้กังวล ไปจนถึงวาระสุดท้าย และน่าจะเป็นสังคมที่ดีเพราะผู้สูงอายุจะได้ใช้ชีวิตอยู่กับเพื่อนฝูงวัยเดียวกัน

 

ไอเดียการย้ายผู้สูงอายุออกมาอยู่ในสถานที่ใหม่ซึ่ง “จัดการง่าย” ในทางเทคนิคแล้วก็ฟังดูเข้าท่าดี สำหรับครอบครัวที่ไม่ต้องการรับภาระในการดูแลคนแก่ แต่หากจินตนาการถึงตัวเราเอง ที่จะต้องกลายเป็นคนแก่ จากที่เคยอยู่บ้านของตัวเองกับลูกหลานที่เลี้ยงมาจนโต เคยตื่นมาใช้ชีวิตแบบเดิมๆสบายใจอยู่กับบรรยากาศที่คุ้นชิน วันดีคืนดี ลูกหลานบอกว่า ให้พ่อแม่หรือคุณตาคุณยายที่เจ็บป่วยหรือเป็นภาระย้ายออกไปอยู่ที่อื่น เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการ ได้อยู่ใกล้หมอ ได้อยู่กับเพื่อนๆวัยเดียวกัน เมื่อถึงวันหยุดก็ค่อยไปเยี่ยมเยียน เพราะวันธรรมดาลูกหลานก็ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ไม่มีคนคอยดูแลผู้อาวุโสในบ้าน สถานการณ์แบบนั้นคือคำตอบของความสุขในวัยสูงอายุจริงหรือ ?

.
จริงอยู่ที่การอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนของคนวัยใกล้เคียงกันจะทำให้ง่ายต่อการจัดการในเรื่องการดูแล ช่วยกันแบ่งเบาต้นทุนในเรื่องสาธารณูโภคต่างๆที่จำเป็นสำหรับคนวัยเดียวกัน สามารถจัดหาระบบบริการด้านสุขภาพมารองรับและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายร่วมกันได้ แต่ในความรู้สึกทางด้านจิตใจก็ไม่อาจมองข้าม เพราะหากเป็นผู้สูงอายุที่มีบ้านของตัวเอง เคยแวดล้อมไปด้วยครอบครัว ลูกหลาน เคยรู้สึกอบอุ่นปลอดภัยอยู่กับสิ่งแวดล้อมที่คุ้นชิน การที่ผู้สูงอายุถูกแยกหรือย้ายออกมาจากครอบครัวเดิมหรือสังคมเดิม ก็ไม่ต่างอะไรกับการถูกนำไป “ทิ้งขว้าง” ในที่ไม่มีใครรู้จัก เสมือนได้ตายไปแล้วจากชีวิตเดิม ส่วนชีวิตใหม่ในที่อยู่ใหม่ซึ่งอาจจะดีในทางเทคนิคนั้น ก็ไม่ต่างอะไรกับชีวิตหลังความตาย ในด้านจิตใจจะเป็นนรกหรือสวรรค์สำหรับผู้สูงอายุก็ไม่มีใครอาจรู้ นอกจากผู้สูงอายุที่ต้องไปเผชิญเองหาคำตอบเอาเอง

.

แต่ทั้งนี้ก็มิได้หมายความว่า ธุรกิจบ้านพักสำหรับผู้สูงอายุจะไม่ดี เพราะนอกจากผู้สูงอายุกลุ่มที่มีครอบครัวแบบขยาย คือแต่งงานมีลูกมีหลานแบบครอบครัวไทยทั่วไป สังคมยังมีกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่แต่งงาน แต่งงานแล้วแต่ไม่มีลูก รวมถึงกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน ซึ่งอาจไม่มีทายาทไว้สืบสกุลหรือคอยช่วยเหลือดูแลในยามแก่เฒ่า คนกลุ่มนี้น่าจะได้ประโยชน์มากกว่าสำหรับการย้ายที่อยู่อาศัยไปยังสถานที่หรือโครงการพักอาศัยแนวใหม่ซึ่งมีสาธารณูปโภคตอบโจทย์ของวัยสูงอายุได้ดี ทำให้สามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างมีคุณภาพโดยไม่ต้องพึ่งพิงลูกหลาน ตราบเท่าที่มีกำลังทรัพย์ มีการวางแผนชีวิตที่ดี โดยเฉพาะแผนการเงินที่จะทำให้มีสถานภาพทางเศรษฐกิจที่ดี มีกินมีใช้ มีเงินดูแลสุขภาพไปจนถึงวันสุดท้ายของชีวิตได้อย่างราบรื่น

.
สำหรับคนที่เริ่มเข้าสู่วัยกลางคน หากคิดจะมีครอบครัว มีลูกหลานแวดล้อม และไม่อยากถูกลูกหลานเอาไปทิ้งที่อื่น ก็ต้องวางแผนไว้ตั้งแต่เนิ่นๆว่า ต้องมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นบ้าน คอนโด ซึ่งในที่นี้หมายถึงเป็นที่อยู่อาศัยที่เป็นกรรมสิทธิ์ของตัวเอง ไม่ต้องไปอาศัยบ้านของลูกหรือลูกเขยลูกสะใภ้ และเมื่อมีบ้านของตัวเองแล้ว ก็ต้องมีเงินเก็บพอสำหรับการดูแลตัวเอง ทั้งการใช้จ่ายตามปกติ และการใช้จ่ายที่เป็นค่ารักษาพยาบาล รวมถึงค่าจ้างคนดูแลตัวเอง ในกรณีที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ในอนาคต ไม่เช่นนั้น ภาระนี้จะตกแก่ลูกหลาน ซึ่งไม่น่าจะมีใครต้องการ เพราะลูกหลานทุกคนก็ต้องไปทำงานทำการ มีชีวิตเป็นของตัวเอง ผู้สูงอายุที่ไม่ทำตัวเป็นภาระแก่ลูกหลาน และรู้จักทำตัวเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้ลูกหลานพึ่งพาอาศัยได้ ให้ลูกหลานเห็นว่าผู้สูงอายุในครอบครัวเป็นคนที่มีประโยชน์ในทางใดทางหนึ่ง หรืออย่างน้อยที่สุดก็คืออยู่ด้วยแล้วสบายใจ ก็จะสามารถอยู่ร่วมกับลูกหลานได้อย่างมีเกียรติมีศีกดิ์ศรี เป็นที่เคารพรักใคร่ นับถือ และที่สำคัญที่สุดคือต้องพยายามดูแลตัวเองให้มีสุขภาพกายใจที่ดีอยู่เสมอ ไม่ปล่อยปละละเลยในเรื่องสุขภาพตั้งแต่ยังไม่แก่เรื่อยไปจนถึงวัยชรา ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในเรื่องโรคภัยไข้เจ็บและชลอความเสื่อมตามวัย ไม่ปล่อยให้ตัวเองเป็นภาระของลูกหลานและภาระของสังคม ก็จะสามารถอยู่กับครอบครัวเดิมไปได้อย่างมีความสุข

.
อย่างไรก็ตาม ในโลกยุคใหม่ที่โครงสร้างสังคมและระบบครอบครัวเปลี่ยนไป ผู้สูงอายุยุคใหม่ก็ควรพิจารณาทางเลือกของการเปลี่ยนที่อยู่อาศัยเอาไว้บ้าง พยายามลดความรู้สึกยึดติดในสิ่งเดิมๆ และความกลัวที่จะเปลี่ยนแปลง เพราะบ่อยครั้งที่การใช้ชีวิตกับลูกหลานซึ่งแม้ภายนอกจะดูเหมือนอบอุ่นดี อาจไม่ใช่ความสุข การเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมออกมาอยู่ในพื้นที่ใหม่ที่เหมาะกับการใช้ชีวิตในวัยสูงอายุจริงๆ อาจทำให้มีความสุขได้มากกว่าหากยอมเปิดใจ และที่สำคัญคือต้องเตรียมเงินทองให้พร้อมสำหรับทุกทางเลือก เพื่อที่จะได้เลือกอย่างสบายใจ การเตรียมตัวอย่างรอบคอบจึงเป็นคำตอบที่ดีที่สุด

line

Text: วรรณศิริ ศรีวราธนบูลย์

ติดต่อฝากข่าวประชาสัมพันธ์ และรีวิวสินค้า-บริการ ได้ที่ ModernMidlife@gmail.com

 

Related posts:

You may also like...