รู้จักและเข้าใจ…วัยกลางคน

aa111

แม้ว่าเราจะใช้เวลามากมายเพื่อเรียนรู้สิ่งต่างๆในระบบการศึกษา และใช้เวลาอย่างน้อย 12 ปีกับวิชาสุขศึกษาขั้นพื้นฐานในวัยเรียน เรามีหลักสูตรที่สอนให้เข้าใจเกี่ยวกับสุขอนามัย เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและจิตใจในช่วงวัยรุ่น ได้เรียนเพศศึกษาแบบตื้นๆและเหนียมอาย จากบทเรียนที่ครูสอน แต่ไม่เคยมีการศึกษาใดที่สอนให้เรารู้และเข้าใจ ถึงความเป็นไปของร่างกายและจิตใจของเราและคนรอบข้าง ในช่วงวัยอื่นๆ เช่น วัยทำงาน วัยผู้ใหญ่ และวัยหนุ่มสาว ความรู้ในการจัดการชีวิตตามช่วงวัยเหล่านั้นเกิดจากการเลียนแบบ สังเกต จดจำ ลองผิดลองถูก และบางครั้งก็ได้ผลลัพธ์ที่ไม่น่าพึงพอใจ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย ที่การเรียนอันยาวนานในระบบไม่ได้เปิดโลกทัศน์ที่ถูกต้องแก่ผู้เรียนในเรื่องที่จำเป็นเหล่านี้ เช่นเดียวกับความรู้ที่จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงเมื่อถึงวัยกลางคน จึงทำให้หลายคนประสบปัญหาต่างๆ จากความไม่รู้ ไม่เข้าใจ ทำให้ชีวิตไม่มีความสุข เกิดช่วงเวลาวิกฤตของชีวิต เช่น เกิดภาวะหดหู่ซึมเศร้า ปัญหาในชีวิตคู่ ปัญหาสุขภาพ ปัญหาความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง เรื่อยไปจนถึงปัญหาสุขภาพจิต และบางคนถึงขั้นฆ่าตัวตาย จึงเป็นความจำเป็นที่เราจะต้องสื่อสารความเข้าใจนี้ให้สังคมอย่างกว้างขวาง

วัยกลางคนคืออะไร…?

วัยกลางคนสามารถเป็นช่วงวัยที่เคร่งเครียด คนจำนวนไม่น้อยจะรู้สึกไม่พึงพอใจและกระสับกระส่ายกับการต้องรับมือกับความเสื่อมของสังขาร ความตายที่ใกล้เข้ามา และค้นหาความหมายในการมีชีวิตอยู่
วัยกลางคนคือจุดกึ่งกลางชีวิตของคนคนหนึ่ง มักหมายถึงอายุประมาณ 40 ถึง 65
.
ในช่วงวัยนี้ ผู้คนอาจได้รับตำแหน่งหรืองานใหม่ที่ต้องใช้ความรับผิดชอบมากขึ้น นำมาซึ่งความรู้สึกจำเป็นที่จะต้องประเมินความสามารถในวิชาชีพของตนและเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆในขณะที่รู้สึกว่ายังมีเวลาอยู่ ในบทความ death and midlife crisis ของบันทึกจิตวิเคราะห์นานาชาติ ปี 1965 โดย Elliot Jaquesนักจิตวิทยาผู้บัญญัติคำว่า midlife crisis (หรือวิกฤตวัยทองในภาษาเรา) ได้กล่าวถึงจุดหนึ่งในชีวิตที่คนเราตระหนักถึงความไม่แน่นอนของสังขาร และเวลาที่้เหลืออยู่ในชีวิต ในขณะที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้ประสบวิกฤตดังกล่าวรุนแรงนัก คนจำนวนมากทีเดียวจะเริ่มมีปัญหาสุขภาพจิตเช่นโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวล โดยเฉพาะผู้หญิงซึ่งเริ่มหมดประจำเดือนนั้นเสี่ยงต่อการมีความทุกข์เป็นพิเศษ

.

ความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจเมื่อเข้าสู่วัยกลางคน

ความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจเมื่อเข้าสู่วัยกลางคน หากไม่ได้รับการทำความเข้าใจที่ถูกต้อง ทั้งตัวบุคคลที่กำลังเข้าสู่วัยกลางคนเอง และทั้งบุคคลรอบข้าง ก็จะเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่นำไปสู่ปัญหา “วิกฤตวัยกลางคน” ได้ โดยความไม่มั่นใจเล็กๆที่น่ารำคาญอาจเริ่มปรากฏ นำมาสู่เหตุการณ์สำคัญๆที่ดูเหมือนไม่มีที่มาที่ไป และการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ผู้ที่พบเจอปัญหาในวัยกลางคนจะเกิดคำถามต่างๆ เช่น “สุดท้ายก็แค่นี้เองหรือ?” “ฉันล้มเหลวใช่ไหม?” สัญญาณเตือนของวิกฤตวัยกลางคนนั้นมีตั้งแต่เบาๆจนถึงขั้นรุนแรง อาทิ

  • ความเหนื่อยล้า เบื่อหน่าย หรือหมดความสนใจกับกิจกรรม สิ่งของ หรือผู้คนที่เคยทำให้มีความสุข
  • อยู่ไม่สุข มีความต้องการจะทำอะไรที่ต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง
  • ไม่มั่นใจในตนเอง และการตัดสินใจที่ผ่านมา ไปจนถึงความหมายของชีวิต
  • สับสนกับอัตลักษณ์ของตนเองและเส้นทางอนาคต
  • ฝันกลางวัน
  • ความฉุนเฉียว ขี้โมโห
  • ความเศร้าซึมเรื้อรัง
  • การเพิ่มขึ้นของปริมาณอาหาร แอลกอฮอลล์ ยาที่ใช้และแรงกระตุ้นอื่นๆ
  • การเพิ่มขึ้นหรือลดลงของความต้องการทางเพศ
  • การนอกใจคู่ครอง โดยเฉพาะกับคนที่อายุน้อยกว่ามาก
  • ความทะเยอทะยานเพิ่มขึ้นหรือลดลงมากๆ

สาเหตุของความรู้สึกไม่มั่นคงเมื่อเข้าสู่วัยกลางคน หรือการเข้าสู่ “ภาวะวิกฤตวัยกลางคน”

ความรู้สึกเหล่านี้อาจเกิดขึ้นเอง หรือเป็นผลจากความเปลี่ยนแปลงหรือสูญเสียครั้งสำคัญเช่นการหย่าร้างหรือการเสียชีวิตของบิดามารดา การทำใจกับความสูญเสียดังกล่าวในเวลาปกตินั้นยากพออยู่แล้ว แต่เมื่อเกิดขึ้นในวัยที่ชีวิตก็มีเรื่องให้ปรับตัวมากมาย เหตุการณ์นั้นอาจทำให้ยิ่งสับสนและเกินจะรับไหว

การแก้ปัญหา

การรับมือกับความท้าทายของวิกฤตวัยกลางคนนั้นต้องใช้พลังและเวลาพอควร แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งของการพบเจอความสุขที่ยิ่งใหญ่กว่าในชีวิต ต่อไปนี้เป็นคำแนะนำเล็กๆน้อยๆสำหรับวิถีชีวิตวัยกลางคนที่ดี

.

  • ค้นหา ยอมรับ และแบ่งปันความรู้สึกของคุณ อนุญาตให้ตนเองไตร่ตรองชีวิตบ่อยๆ ให้เวลาเป็นพิเศษกับคู่ครองและซ่อมแซมความสัมพันธ์ที่จืดจางลง ตั้งเป้าหมายหรือหางานอดิเรกใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว กิจกรรมอาสาสมัคร ใช้เวลากับลูกๆ หรือหันมาดูแลสุขภาพจิตของตนเองอย่างจริงจังโดยการเข้าร่วมกลุ่มหรือพบนักบำบัด

.

  • การออกกำลังกายก็เป็นส่วนสำคัญในการยืดอายุการใช้งานของร่างกาย คนมักคิดว่าความเสื่อมของร่างกายตามวัยเป็นเรื่องที่หยุดยั้งไม่ได้ และคนเรานั้นมีชะตากรรมที่จะต้องเชื่องช้าและหมดประโยชน์ไปตามวัยที่มากขึ้น ซึ่งไม่ใช่ความจริงเสมอไป ความอ่อนแอลงของร่างกายในวัยนี้ส่วนใหญ่กลับเกิดขึ้นจากอยู่เฉย (ไม่ใช่ในทางกลับกัน!)และโรคภัยไข้เจ็บ หรือการขาดสารอาหาร ปัญหาของร่างกายส่วนใหญ่สามารถทุเลาหรือกระทั่งพัฒนาให้กลับมาดีขึ้นกว่าเดิมโดยการเปลี่ยนวิถีชีวิต การออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยป้องกันโรคหลอดเลือกหัวใจตีบ และโรคเรื้อรังอื่นๆ เช่นเบาหวาน ไขข้ออักเสบความดันเลือดสูง มะเร็งบางอย่าง โรคกระดูกพรุน และโรคซึมเศร้า ผลวิจัยมากมายยังได้พิสูจน์ว่าการออกกำลังสามารถลดความเครียดได้ทั้งในระหว่างเล่นและในระยะยาว โดยรวมแล้ว การออกกำลังกายเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่เราจะสามารถทำให้ตัวเองได้

.

  • ไม่ว่าในวัยไหน อาหารการกินที่ดีก็เป็นส่วนจำเป็นในการดูแลสุขภาพ ในวัยกลางคนยิ่งต้องให้ความสำคัญกับการกินอาหารที่ครบห้าหมู่และหลากหลายเพื่อให้ได้วิตามินและแร่ธาตุครบเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย และลดอาหารที่มีไขมันเลว คลอเรสเตอรอล โซเดียม และน้ำตาล

.

  • คนบางคนมีแนวโน้มจะอ้วนขึ้นตามอายุที่มากขึ้น ทั่วไปแล้วสิ่งนี้เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน การกินเกินความต้องการและความเฉื่อยชา วิธีลดไขมันในร่างกายที่ดีที่สุดก็คือลดปริมาณอาหาร หลีกเลี่ยงของทอด และออกกำลังกายแบบแอโรบิค

.

  • สมดุลและความว่องไวของร่างกายเป็นความสามารถที่คนเรามักมองข้าม (จนกระทั่งสูญเสียมันไป) โชคดีที่มันเป็นหนึ่งในหลายๆอย่างที่ถูกรักษาและฟื้นฟูได้ด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำ สมดุลที่ดีของร่างกายสามารถเข้าไปลดทอนอาการวิงเวียนที่เกิดขึ้นจากความเสื่อมของสายตา ยิ่งไปกว่านั้น กล้ามเนื้อที่แข็งแรงยังช่วยป้องกันอุบัติเหตุเช่นการหกล้มได้อีกด้วย

.

  • อีกอย่างที่สำคัญสำหรับการฟื้นฟูร่างกายก็คือการพักผ่อนและการนอน เมื่ออายุมากขึ้น เวลานอนมักจะเปลี่ยนไป อย่าลืมใส่ช่วงพักเข้าไปในตารางออกกำลังกายของคุณโดยเฉพาะหากคุณนอนน้อยกว่าแปดชั่วโมงต่อคืน การออกกำลังยังช่วยทำให้นอนหลับดีขึ้นอีกด้วย

.

คนทุกคนในโลกนี้ ย่อมมีวันหนึ่งที่จะเข้าสู่วัยกลางคน ก่อนจะเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ และวัยชรา การเรียนรู้ เพื่อยอมรับ เข้าใจ ว่าวัยกลางคนของทุกคนเป็นช่วงชีวิตแห่งการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ เพื่อหาวิธีอยู่กับความเปลี่ยนแปลงได้อย่างเหมาะสม แม้จะยากในตอนเริ่ม แต่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และการเลือกจัดการกับอีกช่วงเวลาหนึ่งในชีวิตของตนเองอย่างสร้างสรรค์ สามารถกลายเป็นโอกาสที่ดีในการใช้ชีวิตอย่างมีสงบสุขในระยะยาว

……………………………………

อ้างอิง: https://www.psychologytoday.com

ผู้แปล: วีร์ ศรีวราธนบูลย์

เรียบเรียง: วรรณศิริ ศรีวราธนบูลย์

line

ติดต่อฝากข่าวประชาสัมพันธ์ และรีวิวสินค้า-บริการ ได้ที่ ModernMidlife@gmail.com

Related posts:

You may also like...